โรคมะเร็งผิวหนัง
GH News September 12, 2024 06:13 PM

โรคมะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย แต่ที่จริงแล้วใคร ๆ ก็มีสิทธิ์เป็นได้ เพราะปัจจัยเสี่ยงโรคนี้มีหลายอย่าง อีกทั้งบ้านเราเป็นประเทศเขตร้อน ต้องเจอกับแดดแรง ๆ ทุกวัน ใครบ้างคือกลุ่มเสี่ยงโรคนี้ และทำอย่างไรเราถึงจะปลอดภัยจาก โรคมะเร็งผิวหนัง 

ประเภทของมะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งผิวหนังจากเซลล์ผิวหนัง ที่พบได้บ่อยคือ Basal Cell Carcinoma และ Squamous Cell Carcinoma  และมะเร็งผิวหนังจากเซลล์สร้างเม็ดสี หรือที่เรียกว่า Malignant Melanoma โดยทั่วไปแล้วมะเร็งผิวหนังส่วนมากมักเป็นมะเร็งผิวหนังจากเซลล์ผิวหนังมากกว่ามะเร็งผิวหนังจากเซลล์สร้างเม็ดสี

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง

แสงแดด ผู้ที่ทำงานสัมผัสแสงแดดนาน ๆ ทำงานกลางแจ้ง มีประวัติผิวไหม้แดด หรือชอบตากแดด

มีประวัติได้รับการฉายแสง รังสี หรือสารบางชนิด ผู้ที่ทำงานสัมผัสสารหนู มีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด หรือเคยเป็นหูดบริเวณผิวหนังมาก่อน

มีแผลเรื้อรัง หากมีแผลนานกว่า 3 เดือนที่รักษาไม่หาย อาจเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนังได้

อาการของโรคมะเร็งผิวหนัง

ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังมักพบตุ่ม ก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรังบริเวณผิวหนัง พบได้บนผิวหนังทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนที่สัมผัสแสงแดดเป็นประจำ รวมทั้งหนังศีรษะ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า หากมีไฝอาจสังเกตว่าไฝโตเร็ว แตก เป็นแผล มีเลือดออก

การรักษามะเร็งผิวหนัง

แม้มะเร็งผิวหนังจะเป็นโรคที่ดูน่ากลัว แต่เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นแล้วพบว่ามีการพยากรณ์โรคค่อนข้างดี หากคนไข้มาพบแพทย์เร็วและเริ่มการรักษาไว โอกาสหายจากโรคมีสูงเกือบ 100% วิธีการรักษามาตรฐานคือ การผ่าตัด เพราะมีโอกาสเป็นซ้ำน้อยที่สุด หลังการผ่าตัดคนไข้ต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี สำหรับคนไข้ที่มีข้อห้ามในการผ่าตัด แพทย์จะใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การพ่นเย็น การใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือใช้เลเซอร์จี้  

การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง

-หลีกเลี่ยงแสงแดด ควรใส่หมวก กางร่ม และทาครีมกันแดดในปริมาณที่เพียงพอ หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง

-หมั่นสังเกตอาการหากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น คนผิวขาว ตาฟ้า ผมแดง คนไข้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน มีประวัติฉายแสง รังสี หรือมีคนในครอบครัวมีประวัติโรคนี้

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี หรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารหนู

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่สังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่าย เพราะมีขนาดใหญ่ที่สุดและอยู่นอกร่างกาย โรคมะเร็งผิวหนัง ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น หากคนไข้พบความผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที จะยิ่งเพิ่มโอกาสในหายขาดจากโรคได้มากขึ้น

ผศ.นพ.ธีรพงษ์ รัตนนุกรม

สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.