ซุเปอร์ในชุมชน ช่วยกลุ่มเปราะบาง
GH News September 15, 2024 07:09 PM

“ ข้าวสาร ผักผลไม้ อาหารส่วนเกิน  น้ำมัน ผงซักฟอก ที่ส่งต่อให้ชุมชนเขตสะพานสูงและคนขาดแคลนได้อิ่มท้อง  มีประโยชน์กับคนรายได้น้อย คนป่วยติดเตียง  คนสูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน  ธนาคารอาหารนี้จะช่วยเหลือชาวบ้าน มาเลือกของที่ต้องการได้ แล้วยังมีที่เขตส่งของให้เด็ก คนชรา คนพิการ ถึงที่บ้าน“ ยายอรุณ ศรีคำ วัย 89 ปี ชาวชุมชนวัดลาดบัวขาว เขตสะพานสูง เปิดใจภายหลังเข้ารับบริการศูนย์ BKK Food Bank บริเวณชั้น 1 ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

ธนาคารอาหารเปรียบเหมือนร้านสะดวกซื้อที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร เติมเต็มมื้อที่ขาดหายไปของชุมชน ในทางกลับกันช่วยลดปัญหาการเกิดขยะอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมืองอีกด้วย โดยกรุงเทพมหานครเป็นตัวกลางรวบรวมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคจากธุรกิจโรงแรม ร้านค้าสะดวกซื้อ  ห้างสรรพสินค้า วัด สุเหร่า โรงงาน  มูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมบริจาคให้กับเขตทุกสัปดาห์ เพื่อนำไปส่งต่อและจัดเก็บที่ศูนย์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ปัจจุบันศูนย์ BKK Food Bank เปิดครบทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว  หลังจากเริ่มผลักดันธนาคารอาหารมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 โดยเขตสะพานสูง ถือเป็นเขตล่าสุด จากรายงาน กทม. ปัจจุบัน BKK Food Bank สามารถส่งต่ออาหารบริจาคได้ 488,227.29 กิโลกรัม หรือนับเป็นมื้อได้กว่า  2 ล้านมื้อ ถึงมือผู้รับซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางแล้วรวม 5,330 ราย จากข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้ 23,476 ราย

กลุ่มที่เข้ามารับบริการมากที่สุด ผู้สูงอายุ ตามด้วยผู้มีรายได้น้อย เด็ก  ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ  เด็กในศูนย์เด็กเล็กฯ  ผู้ป่วยติดเตียง  และคนไร้บ้านตามลำดับ  5 ประเภทอาหารที่มีน้ำหนักมากที่สุด  ได้แก่ เบเกอรี่ 312,023  กก. อาหารปรุงสุกพร้อมทาน 34,664  กก. ข้าว 32,604  กก. ผักและผลไม้ 16,981.9 กก. น้ำเปล่า 14,552 กก. คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ 1,235,215.04 กิโลCO2e

นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว แต่ละสำนักงานเขตยังมีการรับ – ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จากผู้บริจาคตรงสู่ผู้รับในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยจะรับอาหารส่วนเกินจากผู้บริจาค สัปดาห์ละ 3 วัน (ทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี) ก่อนส่งตรงผู้รับ ซึ่งผู้ประสงค์จะบริจาคของให้กับ BKK Food Bank สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โครงการ BKK Food Bank เปิดครบ 50 เขต แล้วที่เขตสะพานสูง โดยเป็นจุดที่เราใช้รวบรวมของบริจาคจากประชาชนที่อยากแบ่งปัน กทม. ทำหน้าที่ส่งต่อของเหล่านี้ให้กลุ่มเปราะบาง

หลักการคือการแบ่งปัน เพราะเชื่อว่ากรุงเทพฯ มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับทุกคน แต่อาจจะอยู่ที่คนใดคนหนึ่งเยอะ ส่วนบางคนขาด เราสามารถเป็นตัวกลางได้ เคยเห็นโครงการเหล่านี้ในหลายประเทศทั่วโลก หลักการจะมีแต้มให้กลุ่มเปราะบางใช้แลกของ สามารถมาเดินเลือกของได้อย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากของแห้งแล้ว อีกรูปแบบคืออาหารสดที่ยังไม่หมดอายุแต่ไม่สามารถขายได้ที่จะรับโดยตรงจากผู้บริจาค ที่ผ่านมา รับบริจาคแล้ว 2 ล้านมื้อ เกือบ 5 แสนกิโลกรัม เป็นการลด food waste หรือขยะอาหารด้วย

“ ความยั่งยืนของโครงการต้องทำให้ประชาชนเชื่อใจเรา สร้างความไว้วางใจว่า ของที่บริจาคถึงมือกลุ่มเปราะบางจริง ๆ มีการทำบัญชี ให้ประชนมีส่วนร่วมช่วยตรวจสอบ หากได้ความเชื่อใจประชาชนจะหมุนเวียนเข้ามาบริจาค ต่อไปหากใครอยากช่วยเหลือผู้ที่ลำบาก อยากแบ่งปัน แวะนำของมาบริจาคที่สำนักงานเขตได้เลย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

 ด้าน พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานครกล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการแป่งปัน  เขตเป็นตัวกลางรับบริจาคจากประชาชน ภาคเอกชน แล้วคัดแยก จัดเก็บ แจกจ่ายส่งต่อกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ตกงานที่ยังขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก รวมถึงผู้ประสบภัยทั้งไฟไหม้หรือน้ำท่วมสามารถนำสิ่งของไปบรรเทาทุกข์ได้ นอกเหนือช่วยเหลือมิติทางสังคมแล้ว  ยังช่วยมิติสิ่งแวดล้อม  เราพบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกินและถูกทิ้งเป็นขยะทุกวัน และขยะที่มาจากอาหาร คิดเป็น 50% ของขยะทั้งหมด ธนาคารอาหารช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ BKK Food Bank มี2 โมเดล รับของส่วนเกินจากร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร เป็นของสด เช่น ขนมปัง ผักผลไม้ เมื่อรับแล้วส่งตรงชุมชนเลย โดยมีภาคีอย่าง S.O.S ชี้เป้าให้กทม. อีกรูปแบบเป็นของแห้งที่มีปริมาณเยอะกว่า และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน บริจาคที่สำนักงานเขต หรือสำนักพัฒนาสังคมที่จัดระบบรวบรวมส่งต่อกรณีธนาคารอาหารของเขตไหนมีสิ่งของไม่พอคล้ายมินิมาร์ท มี ข้าวสาร ไข่ น้ำปลา น้ำตาล เสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำแต้มที่เขตมอบให้กลุ่มเปราะบางมาแลกของที่ต้องการ มาช็อปปิ้ง   เมื่อก่อนเราแจกถุงยังชีพ สิ่งของในถุงคนเลือกไม่ได้ แต่ธนาคารอาหารให้เกียรติในการเลือกสิ่งที่ต้องการ เป้าหมายต้องช่วยเหลือใหครบ 23,000 คน   “ นายพรพรหม กล่าว

เขตสะพานสูงมีชุมชนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ  ประวิทย์ ศรีวิเศษ ประธานชุมชนสุเหร่าซีรอ เขตสะพานสูง กล่าวว่า เขตสะพานสูงอดีตชุมชนทำเกษตรกรรม เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และทำไร่ เป็นชาวมุสลิมมากกว่า 70% อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตของพื้นที่ มีหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมาก ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง การทำเกษตรให้ผลผลิตลดลง ชาวบ้านมีรายได้น้อยลง ศูนย์ BKK Food Bank มีประโยชน์กับกลุ่มเปราะบางในชุมชนโดยตรง สอดรับกับหลักศาสนาอิสลามด้านการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงการร่วมบริจาคให้กับสังคม  ซึ่งเขตสะพานสูงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคที่ศูนย์แห่งนี้มาจากทั้งสุเหร่า วัด และมูลนิธิ  สังคมเกื้อกูลกัน

“ ศูนย์ BKK Food Bank ครบ 50 เขต แล้ว แสดงถึงการไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ผู้ที่มีมากกว่าสามารถสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง ส่วนมากเป็นผู้ป่วยติดเตียงและคนยากจนไม่พร้อมทางฐานะ   ประชาชนในกลุ่มนี้ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง การช่วยเหลือข้าวปลาอาหารแห้ง สิ่งของส่วนใหญ่มีตราฮาลาล ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แสดงถึงความใส่ใจพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ช่วยลดรายจ่าย ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “ ประวิทย์ บอกก่อนพาเด็กๆ ชาวสะพานสูงชม ช้อป ในศูนย์ BKK Food Bank สะพานสูงที่มีของกินของใช้ให้เลือกมากมาย

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.