EV จีนชงแก้เกณฑ์ผลิตชดเชย ลดปัญหาสงครามราคาหลังสต๊อกเริ่มบวม
SUB_BUA September 16, 2024 11:10 AM

ค่ายรถจีนอ่วม ตลาดในประเทศหดตัวหนัก EV เริ่มแผ่ว ส่งออกมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ บริษัทแม่ยังใช้นโยบายยัดสต๊อกต่อเนื่องทำให้หนีสงครามราคาไม่ออก ล่าสุด 8 ยักษ์จีนขอปรับ “ทีโออาร์” ลดเงื่อนไขมาตรการส่งเสริม EV ทั้ง 3.0 และ 3.5 โดยเฉพาะจำนวนผลิตชดเชย ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นโวยยับเอาแต่ได้ ชี้แนวโน้ม “อียู” อาจเลิกแบนสันดาป

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารค่ายรถยนต์สัญชาติจีนเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ประกอบการรถยนต์สัญชาติจีนในประเทศไทยได้ร่วมหารือกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อรับฟังปัญหาและการดำเนินธุรกิจในไทย

ซึ่งตอนนี้มีประเด็นหลักที่กำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อย่าง สงครามราคาที่ถล่มกันค่อนข้างรุนแรง โดยการหารือกันครั้งนี้มี 8 ค่ายรถจีนเข้าร่วม ประกอบด้วย MG, เกรท วอลล์ มอเตอร์, NETA, BYD, AIONO, CHANGAN, OMODA&JAECOO, ZEEKR

“ทางทูตจีนห่วงว่าสงครามราคาจะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเสียหายอย่างมาก แต่ทางฝ่ายผู้ประกอบการก็สะท้อนให้เห็นถึงรากของปัญหานี้มาจากแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมรถอีวีของรัฐบาลไทย รวมถึงจำนวนผู้เล่นในตลาดมีมาก ประกอบกับบริษัทแม่ที่ประเทศจีนใช้นโยบายยัดสต๊อกหวังใช้ไทยเป็นที่ระบายสินค้า ส่งผลต่อการแข่งขันกันหนักมาก และยืนยันว่าหากจะระบายสต๊อกได้เร็ว วิธีเดียวคือลดราคาขาย”

จีนจี้ปรับทีโออาร์ EV 3.0

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมยังมีการเสนอว่าควรจะมีการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ ขอปรับเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.0 และ EV 3.5 เนื่องจากปัจจุบันตลาดรถยนต์ในประเทศหดตัวอย่างรุนแรงมาก สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ผงกหัวขึ้น กำลังซื้อก็อ่อนแอ แถมยังมีปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่ต้องรัดกุมจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ตลาดส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การขนส่งล่าช้าและมีหลายประเทศแบนรถ EV จากจีน ทำให้ตอนนี้ตลาดรถ EV แผ่วลงไปเยอะ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เงื่อนไขการผลิตชดเชยเป็นเรื่องใหญ่ เพราะปีนี้มีหลายค่ายเริ่มเดินหน้าผลิตกันแล้ว ตามสัดส่วน 1 : 1 แต่รถที่ผลิตออกมาก็สร้างปัญหากลายเป็นสต๊อกจำนวนมาก และหากจะชะลอเลื่อนไปผลิตปีหน้า สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 1 : 1.5 และไม่แน่ใจว่าตลาดจะดีขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ ในเงื่อนไขยังมีโทษปรับ ซึ่งมีอัตราค่อนข้างสูง 5 แสนถึง 7 แสนบาทต่อคัน ทำให้ผู้ประกอบการเลือกเอาเงินค่าปรับมาลดราคา กลายเป็นสงครามอยู่ตอนนี้

ญี่ปุ่นโวยลั่นเบรกลงทุน

แหล่งข่าวผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นหลายค่ายมองปรากฏการณ์สงครามราคาว่า ทำให้ตลาดเสียหายหนัก ป่วนกันไปทั้งตลาดรถใหม่และรถมือสอง เรื่องนี้ต้องโทษนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาลเองที่ย้อนแย้ง ก่อนหน้านี้ผลักดันโปรดักต์แชมเปี้ยนทั้งปิกอัพและอีโคคาร์ แต่พอเทรนด์ EV มา กลับลำพลิกตัวไปอุ้มค่ายจีน ลอยแพนักลงทุนญี่ปุ่นกลุ่มเดิมที่มาก่อน

ตรงนี้เองที่กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ให้ค่ายรถญี่ปุ่น 2 แบรนด์ประกาศถอนลงทุนและเลือกปิดไลน์ผลิตในเร็ว ๆ นี้ หันไปลงทุนประเทศอื่นที่มีศักยภาพมากกว่า ตอนนี้ค่ายญี่ปุ่นที่เคยสัญญาว่าจะลงทุนในไทย ช่วงที่อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน โรดโชว์ไปชักชวนก็ยังไม่มีใครกล้าลงทุน หากว่ารัฐบาลยอมค่ายจีนอีก ญี่ปุ่นก็เหมือนโดนกระทำไปเรื่อย ๆ รอว่าใครจะทิ้งไทยไปอีกเท่านั้นเอง

ส่วนประเด็นดึงดูดเม็ดเงินลงทุนรถ EV จีนของรัฐบาลไทย ตามนโยบาย 30@30 ที่เล็งผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ของกำลังผลิตในประเทศ ในปี 2030 ระยะหลังตลาดโลกและบ้านเรา รถ EV ก็มีแนวโน้มลดลง จีนเดินเครื่องภายในประเทศ 7-8 โรงงาน

แต่นั่นอาจไม่ใช่คำตอบการต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย เพราะการเข้ามาของนักลงทุนจีนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก ต่างจากช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานผลิตในบ้านเราเมื่อ 50 ปีก่อน ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับซัพพลายเชน

โตโยต้าลดการผลิต 30%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีนี้ ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนหนึ่งวางแผนปรับลดการผลิตลงตามสภาพตลาด ตามข้อมูลของ “โกลบอลดาต้า” (Global Data) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยของสหราชอาณาจักร ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ 9.7 ล้านคันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตชะลอตัวลงอย่างมากจากปี 2565 ที่โต 65%

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทที่มียอดขายมากที่สุดในโลก เผยว่าวางแผนจะชะลอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลง โดยคาดการณ์จำนวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้าทั่วโลกในปี 2569 ที่ 1 ล้านคัน ซึ่งลดลงประมาณ 30% จากเป้าเดิมที่ประกาศไว้

โตโยต้าอธิบายว่า การตัดสินใจลดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทั้งนี้ โตโยต้าได้แจ้งให้ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนทราบถึงการตัดสินใจนี้แล้ว

ทั้งนี้ โตโยต้าซึ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฮบริดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 100,000 คันในปี 2566 และขายได้ประมาณ 80,000 คัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งหมายความว่าคาดการณ์ยอดขายปี 2569 ที่ปรับใหม่ ยังคงเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การผลิตจะลดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับแผนเดิม

นอกจากโตโยต้าแล้ว บริษัท โฟล์กสวาเกน ของเยอรมนี ก็กำลังพิจารณาปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในเยอรมนี เป็นครั้งแรก เนื่องจากมีต้นทุนสูงในการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า

“อียู” อาจเลิกแบนสันดาป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมและส่งผลต่ออนาคตของ EV อย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันในสหภาพยุโรปกำลังมีความพยายามจากที่จะยกเลิกกฎหมายแบนรถยนต์สันดาปที่ผ่านรัฐสภายุโรป เมื่อปลายปี 2565 กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป นับตั้งแต่ปี 2578 (ค.ศ. 2035) ต้องเป็นรถยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) เท่านั้น กล่าวคือ ห้ามขายรถยนต์สันดาปนับตั้งแต่นั้น

สมาชิกสภายุโรปจากกลุ่มประชาชนยุโรป (European People’s Party : EPP) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายกลางขวาที่ครองที่นั่งมากที่สุดในสภา ต้องการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว โดยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มนี้ประกาศว่าจะยกเลิกกฎหมายแบนรถยนต์สันดาป และจะอนุญาตให้มีการเปิดกว้างทางเทคโนโลยีมากขึ้น โดยอนุญาตให้ใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ เช่น ไบโอมีเทน ไฮโดรเจน แอมโมเนีย หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา อิตาลี ซึ่งเป็นชาติสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้มาตั้งแต่ต้น ได้เรียกร้องการทบทวนแก้ไขกฎหมายอีกครั้ง โดยนายอดอลโฟ อูร์โซ (Adolfo Urso) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของอิตาลี กล่าวนอกรอบการประชุมทางธุรกิจ “TEHA” เรียกร้องให้สหภาพยุโรปจัดการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในต้นปีหน้า จากเดิมที่มีกำหนดจะทบทวนในปี 2569

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.