ยุคทองครีเอเตอร์ “ฟูลไทม์” ถอดสูตร “อินฟลูเอนเซอร์” มืออาชีพ
SUB_TIK September 16, 2024 11:10 AM

แวดวง “อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer) หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์เกิดการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุค เปลี่ยนไปตามการแจ้งเกิดของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และความสนใจของผู้คน จากบล็อกเกอร์ถ่ายทอดความสนใจผ่านงานเขียน มาสู่ยูทูบเบอร์, ติ๊กต๊อกเกอร์ บอกเล่าเรื่องราวผ่านวิดีโอ และเป็นตัวแทนการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ต่าง ๆ

กระทั่งการขายแบบ “ติดตะกร้า” หรือ Affiliate Marketing เข้ามาเปลี่ยนโลกการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้อินฟลูเอนเซอร์มีสถานะไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมนุษย์ หรือในแง่ของการเลือกพรีเซ็นเตอร์ ก็เริ่มเห็นการใช้อินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น

มีโอกาสมากมายหลั่งไหลมายังกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ทำให้อาชีพนี้มาแรงอย่างน่าจับตาในโลกยุคดิจิทัล

1 ใน 9 สายงานแห่งอนาคต

หนึ่งในแผนงานสำคัญของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ตอบสนองงานในโลกยุคใหม่ และสายงานเฉพาะด้านดิจิทัลที่ขาดแคลน ซึ่ง “อินฟลูเอนเซอร์” เป็น 1 ใน 9 อาชีพเป้าหมาย ที่ดีป้าต้องการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีทางเลือกในการประกอบอาชีพยุคใหม่

กลุ่มอาชีพอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

1.กลุ่มอุตสาหกรรมเกม ได้แก่ นักออกแบบเกม นักพัฒนาเกม นักกีฬาอีสปอร์ต 2.กลุ่มอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น นักออกแบบ/นักพัฒนาแอนิเมชั่น 3.กลุ่มอาชีพในอุตสาหกรรมแคแร็กเตอร์ เช่น นักออกแบบแคแร็กเตอร์

4.เกษตรกรดิจิทัล (Digital Farmer) 5.ผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Entrepreneur) 6.นักจัดการงานด้านดิจิทัล (Digital Administrator) 7.นักจัดการข้อมูล (Data Administrator) 8.นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer)

นอกจาก “ดีป้า” วางแผนเปลี่ยนการทำงานเชิงอบรมมาเป็นการทำงานเชิงระบบ เพื่อเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลให้คนไทยผ่านการเรียนรู้บนแพลตฟอร์ม e-Learning ที่เป็น Open Platform และพัฒนาหลักสูตรให้ตอบความต้องการของตลาดแรงงาน ยังจะใช้มาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อเร่งให้เกิดการเพิ่มจำนวนของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ

ตลาดอินฟลูฯโตต่อเนื่อง

“สุวิตา จรัญวงศ์” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) กล่าวว่า ตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยมีมูลค่าประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โตปีละ 25-30% สูงกว่าภาพรวมของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์โลกที่มีมูลค่า 5.5 ล้านล้านบาท และโตปีละ 20% แปรผันตามการใช้งบประมาณของแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

สุวิตา จรัญวงศ์

ในแง่จำนวนครีเอเตอร์ จากข้อมูลของ Linktree พบว่าปัจจุบันมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกประมาณ 200 ล้านคน หรือประมาณ 3% ของประชากรโลก โดยในประเทศไทยคาดว่ามีตั้งแต่ระดับนาโน (ผู้ติดตามหลักพัน) จนถึงเมกะ (ผู้ติดตามหลักแสน) มากถึง 9 ล้านคน และกว่า 2 ล้านคน ทำแบบ “ฟูลไทม์” (Full-Time) สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดโลกที่ปี 2567 เป็นปีที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์หันมาทำงานแบบฟูลไทม์มากที่สุด

ตนมองว่าปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาทำอาชีพอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น มาจากพฤติกรรมการใช้เวลาบนโลกออนไลน์ที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ระบุว่า ประชากรไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด”

ยุคของ Micro influencer

“สุวิตา” กล่าวต่อว่า แม้ภาพรวมของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีครีเอเตอร์เป็นจำนวนมาก แต่เชื่อว่ายังไม่โอเวอร์ซัพพลาย เพราะแบรนด์ยังต้องการตัวเลือกที่หลากหลาย และตอบโจทย์การสื่อสารของแคมเปญ ทั้งครีเอเตอร์ถูกแบ่งย่อยเป็น “Subculture” ที่มีความเฉพาะสายมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ยังไม่สามารถเข้าถึงอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ได้

“ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเติบโตของ Micro influencer หรือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามประมาณหลักหมื่นคน เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างคอนเทนต์ได้อย่างธรรมชาติ และกลายเป็นที่นิยมทั้งในหมู่ผู้ชมและแบรนด์ โดยค่าจ้างต่อ 1 คอนเทนต์ จะอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท”

สอดคล้องกับที่ “สุวิตา” อธิบายกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ถึงเหตุผลที่ Micro influencer ได้รับความนิยมมากขึ้นว่า แบรนด์เริ่มโฟกัสที่การตลาดหางยาว (Long Tail Marketing) หรือการทำตลาดกับสินค้าที่ไม่ได้ขายดีมาก แต่เมื่อนำยอดขายมารวมกันมีโอกาสสร้างยอดขายได้มากกว่าสินค้าขายดีที่มีสัดส่วนไม่เยอะ ซึ่ง Micro influencer ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์นี้ได้เป็นอย่างดี

“แบรนด์จะทุ่มโปรโมตกับสินค้าขายดีในช่วงแคมเปญเยอะมาก แต่จุดอ่อนของการตลาดแบบนี้ คือทำได้แค่นาน ๆ ครั้ง คู่แข่งรู้หมดว่ากำลังทำอะไร แต่ Long Tail เป็นเหมือนการตลาดใต้ดิน โปรโมตน้อย ๆ แต่ตรงกลุ่ม
เป้าหมาย ค่อย ๆ ให้ Micro influencer ทำหน้าที่ไป มีจุดแข็งตรงที่ไม่ต้องใช้เงินโปรโมตเยอะและคู่แข่งไม่รู้ด้วยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่”

งาน “ฟูลไทม์” ได้จริง ?

ในอดีตอาชีพอินฟลูเอนเซอร์คงหนีไม่พ้นการจัดอยู่ในกลุ่ม “Gig Economy” หรือการจ้างงานแบบเป็นครั้งคราว ด้วยความที่รายได้ไม่แน่นอน บางคนจึงเลือกทำเป็นอาชีพเสริมจากงานหลัก แต่จากข้อมูลที่ชี้ว่าคนไทยหันมาประกอบอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบฟูลไทม์กว่า 2 ล้านคน ได้สะท้อนถึงมุมมองการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตของตลาด

นำไปสู่คำถามที่ว่า “อินฟลูเอนเซอร์” เป็นอาชีพที่ทำฟูลไทม์จริง ๆ ได้หรือเปล่า ?

“ธรรณพ แสงโอสถ” หรือ “ฟลุ๊ค กะล่อน” อินฟลูเอนเซอร์ฟูลไทม์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรม (Instagram) กว่า 1.1 ล้านคน แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ฟูลไทม์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องลงทุนลงแรงเยอะมากโดยที่ยังไม่ได้อะไรกลับมา

ธรรณพ แสงโอสถ หรือ ฟลุ๊ค กะล่อน

“ช่วงแรกต้องใช้เวลา และความอดทนอย่างมากกว่าคนจะรู้จัก และเข้าใจตัวตนของเรา สิ่งที่สำคัญในการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ฟูลไทม์ คือการสะสมฐานผู้ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การจ้างงานของแบรนด์ต่าง ๆ”

เขายังเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตนเองว่า เกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน ในยุคของ “เน็ตไอดอล” ตอนนั้นยังเรียนและทำงานรับจ้างไปด้วย แต่เริ่มมาดังจากการทำคลิปตลก ๆ บนโซเชียล ทำไปสักพักก็รู้ว่าสิ่งที่ทำหาเงินได้ จึงตัดสินใจทำเต็มตัว สะสมฐานและต่อยอดไปทีละขั้น ปัจจุบันมีแบรนด์เครื่องสำอาง (Karon Beauty) และบริษัทรับงานของตนเอง

“ธรรณพ” กล่าวว่า ความยากของการทำอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ คือรายได้ไม่สม่ำเสมอ

“ออกไปหางานก็ไม่ได้ ต้องรอให้งานมาหาเรา ซึ่งไม่รู้เลยว่าเดือนนั้นจะมีงานเข้ามาหรือเปล่า สิ่งที่จะทำได้เพื่อรับมือกับความเสี่ยง คือพัฒนาคอนเทนต์ Hero Product ที่ทำให้คนนึกถึงแต่เรา และดูได้ที่เราเท่านั้น”

นอกจากคิดว่าจะทำยังไงให้คอนเทนต์แตกต่าง ต้องคำนึงถึงคุณภาพของช่องด้วยว่าสร้างรายได้ได้ไหม ลูกค้าจะเข้าหรือเปล่า เพราะสิ่งที่ลูกค้ามองหาไม่ใช่แค่ว่าเราขายได้ไหม แต่มองว่าเราเป็นใคร สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า เช่น สายบิวตี้มีอินฟลูเอนเซอร์เยอะมาก แต่ทำไมลูกค้าเลือก ฟลุ๊ค กะล่อน นั่นคือสิ่งที่ต้องบอกกับตัวเองให้ได้

“ฟลุ๊ค กะล่อน” ทิ้งท้ายด้วยว่า แม้จะมีชื่อเสียงติดลมบนและมีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่ก็หยุดพัฒนาทักษะไม่ได้ ซึ่งตนเป็น “อินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้” ก็ต้องอัพเดตความรู้หรือเทรนด์การแต่งหน้าตลอดเวลา เพื่อให้คอนเทนต์สดใหม่ ไม่จำเจ มีภาพลักษณ์ใหม่ ๆ กับกลุ่มผู้ชมเสมอ

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.