เฟดลดดอกเบี้ยครั้งแรกแบบแรง 0.50% เสียงข้างมากหนุนลดอีก 0.50% ในปีนี้
Jom_World September 19, 2024 10:00 AM
เผยแพร่ วันที่ 19 ก.ย. 2024 เวลา 01.03 น. อัพเดต 19 ก.ย. เวลา 02.40 น.

ตลาดคาดถูก ! ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของรอบลงแบบเร็ว-แรง 0.50% นำอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตรา 5.25-5.50% สู่อัตรา 4.75-5.00% Dot Plot เผยเสียงข้างมากหนุนลดอีกอย่างน้อย 0.50% ในปีนี้

วันที่ 18 กันยายน 2024 เวลา 14.00 น. ตามเวลา EDT สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 01.00 น. วันที่ 19 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เผยผลการประชุมตัดสินใจนโยบายการเงินว่า ที่ประชุมมีมติไม่เอกฉันท์ 11 ต่อ 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 เบซิสพอยต์ (Basis Point) หรือ 0.50% นำอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตรา 5.25 ถึง 5.50% สู่อัตรา 4.75 ถึง 5.00% โดยมี 1 เสียงเห็นควรให้ลดเพียง 0.25%

การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมครั้งนี้ แต่ตลาดยังมีมุมมองที่แตกต่างและถกเถียงกันจนนาทีสุดท้ายว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% หรือ 0.50% ซึ่งโดยส่วนใหญ่เทไปที่ 0.50%

แถลงการณ์ FOMC

แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า ตัวชี้วัดล่าสุดบ่งชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่มั่นคง การจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตราช้าลง และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อมีพัฒนาการที่มุ่งหน้าไปสู่อัตราเป้าหมาย 2% ของคณะกรรมการ แต่ยังคงสูงเล็กน้อย

คณะกรรมการพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานสูงสุดและเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่อัตรา 2% ในระยะยาว คณะกรรมการมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และพิจารณาเห็นว่าความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานและความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สมดุล ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน และคณะกรรมการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงทั้งสองด้านของภารกิจคู่ขนาน (Dual Mandate) 

เมื่อพิจารณาจากความคืบหน้าของอัตราเงินเฟ้อและความสมดุลของความเสี่ยง คณะกรรมการจึงตัดสินใจลดช่วงเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางลง 0.50% เป็น 4.75% ถึง 5.00% 

“ในการพิจารณาปรับช่วงเป้าหมายของอัตราผลตอบแทนของธนาคารกลางเพิ่มเติม คณะกรรมการจะประเมินข้อมูลที่เข้ามา แนวโน้มพัฒนาการ  และความสมดุลของความเสี่ยงอย่างรอบคอบ การถือครองพันธบัตรกระทรวงการคลังและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยหน่วยงานรัฐต่อไป คณะกรรมการมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสนับสนุนการจ้างงานในระดับเต็มศักยภาพและจะนำอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2%”

“ในการประเมินจุดยืนที่เหมาะสมของนโยบายการเงิน คณะกรรมการจะติดตามผลกระทบของข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจะเตรียมปรับจุดยืนของนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากเกิดความเสี่ยงที่อาจขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการ การประเมินของคณะกรรมการจะพิจารณาข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงข้อมูลสภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ และพัฒนาการด้านการเงินและด้านการระหว่างประเทศ” ถ้อยแถลงของเฟดระบุ

พาวเวลล์แถลงข่าว-ตอบคำถาม 

เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวในการแถลงข่าวและตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า โดบพื้นฐานแล้ว การเคลื่อนไหวทางนโยบายการเงินของเฟดในครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า “การลงจอดอย่างนุ่มนวล” (Soft Landing) ให้กับเศรษฐกิจ

ประธานเฟดเน้นย้ำเหมือนที่เคยพูดมาหลายครั้งว่า การตัดสินใจด้านนโยบายจะต้องเกิดขึ้นในการประชุมแต่ละครั้ง คณะกรรมการไม่มีการกำหนดทิศทางหรือวางแผนกันไว้ล่วงหน้า และเขายังบอกด้วยว่า ดอตพลอต (Dot Plot) หรือแผนภูมิคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่ ไม่ถือว่าเป็นแผนนโยบายแต่อย่างใด

เมื่อถูกถามถึงคำกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ว่าไม่คิดว่าจะลดดอกเบี้ย 0.50% พาวเวลล์อธิบายว่า มีข้อมูลใหม่จำนวนมากที่เข้ามาตั้งแต่ที่เขาพูดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่าไม่คิดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ซึ่งผู้กำหนดนโยบายการเงินได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดแล้ว และตัดสินใจว่าเหมาะสมที่จะลดดอกเบี้ย 0.50% ในวันนี้

“นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเศรษฐกิจและสำหรับคนที่เราทำงานเพื่อให้บริการ”

เมื่อถูกถามว่าคิดอย่างไรกับการตัดสินใจว่าจะลดดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ในอนาคต พาวเวลล์ตอบย้ำว่า การตัดสินใจจะเกิดขึ้นในการประชุมแต่ละครั้ง โดยพิจารณาจากข้อมูลและความเสี่ยงทั้งหมดที่เข้ามา ไม่มีการคิดไว้ล่วงหน้า

“เราทราบดีว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับนโยบายของเราใหม่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าว … เราจะดำเนินการอย่างเร็วหรือช้าเท่าที่เราเห็นว่าเหมาะสม โดยพิจารณาจากข้อมูล” ประธานเฟดกล่าว

เฟดได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้ว่าปรับลดดอกเบี้ยช้าหรือล้าหลังเกินไป (Behind the curve) แต่พาวเวลล์กล่าวว่า “เราไม่คิดว่าเราล้าหลัง” และด้วยการปรับลด 0.50% ในวันนี้ “คุณสามารถมองได้ว่านี่เป็นสัญญาณของความมุ่งมั่นของเราที่จะไม่ล้าหลัง”

คาดการณ์ดอกเบี้ย-เศรษฐกิจ

ในการประชุมครั้งนี้ FOMC มีกำหนดเผยแพร่คาดการณ์ตัวเลขสำคัญ ประกอบด้วยคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราว่างงาน อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE inflation) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ 

สำหรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ มีค่ากลาง (median) ของคาดการณ์อยู่ที่อัตรา 2.0% ทั้งในปี 2024, 2025, 2026 และ 2027 

อัตราว่างงาน มีค่ากลางของคาดการณ์อยู่ที่ 4.4% ในปี 2024 และ 2025 ตามด้วย 4.3% ในปี 2026 และ 4.2% ในปี 2027 

อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE inflation) มีค่ากลางของคาดการณ์อยู่ที่ 2.3% ในปี 2024 ตามด้วย 2.1% ในปี 2025 และ 2.0% ในปี 2026 และ 2027 

ส่วนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หรือ Dot Plot ที่คาดการณ์โดยเจ้าหน้าที่ 19 คน มีค่ากลางของคาดการณ์อยู่ที่ 4.4% ในปี 2024 ตามด้วย 3.4% ในปี 2025 แล้วจะลงไปอยู่ที่ 2.9% ในปี 2026 และคงที่ที่ 2.9% ในปี 2027

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จำนวน 10 คนจากทั้งหมด 19 คน เห็นด้วยกับการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 50 เบซิสพอยต์ หรือ 0.50% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปี 2024

การตอบรับของตลาด

หลังทราบผลการตัดสินใจนโยบายการเงิน ดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลระหว่างวันที่ 5674.52 จุด ณ เวลา 14.35 น. EDT ก่อนจะปรับลดลงไปอยู่ในเหนือกว่าระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าเล็กน้อย 

ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต (Nasdaq Composite) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดของวันที่ 17,829.15 ณ เวลา 14.35 น. EDT ก่อนจะร่วงลงจนต่ำกว่าระดับปิดตลาดวันก่อนหน้า

ส่วนดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 41,851.72 จุด ณ เวลา 14.35 น. EDT ก่อนปรับลดลงเล็กน้อย

ด้านราคาสปอตทองคำ พุงขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่แตะ 2,600 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ณ เวลา 14.30 น. EDT ก่อนจะร่วงลงมาหลุด 2,550 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ แล้วทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2,554 ถึง 2,559 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

ทั้งนี้ ข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่า ผลงานของตลาดหุ้นสหรัฐหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยรวมแล้ว ในทุกวัฏจักรดอกเบี้ย ผลงานของดัชนี เอสแอนด์พี 500 (S&P 500) หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเป็นไปใน “เชิงบวก” เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางครั้งที่เป็นไป “เชิงลบ” เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.