รู้จัก SDR ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
SUB_NOI September 20, 2024 10:20 AM
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิดผู้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

การที่บริษัทต่างชาติจะค้าขายหรือลงทุนกับประเทศใด ย่อมต้องมั่นใจก่อนว่าประเทศนั้นมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สามารถจ่ายค่าสินค้าหรือชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ ซึ่งหลักประกันความมั่นใจอันหนึ่ง คือ ประเทศนั้นมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอ

ทุนสำรองระหว่างประเทศคือ เงินตราต่างประเทศและสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางดำรงไว้ โดยในยามจำเป็นที่เอกชนหรือรัฐไม่สามารถหาแลกเงินตราต่างประเทศได้ในตลาดการเงิน ก็สามารถมาแลกเงินตราต่างประเทศที่สะสมไว้ในทุนสำรองได้ หรือธนาคารกลางอาจใช้ทุนสำรองเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนสูงมากเกินไปจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

แล้วประเทศควรมีทุนสำรองมากเพียงใด มีเกณฑ์สากลที่เป็น Rule of Thumb ว่าหากทุนสำรองสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าและบริการได้มากกว่า 3 เดือน หรือสามารถรองรับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่จะครบกำหนดในช่วง 1 ปีข้างหน้าได้ทั้งหมด ก็ถือว่าทุนสำรองสูงเพียงพอ

ล่าสุด (ส.ค. 2567) ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross International Reserves) 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถรองรับการนำเข้าได้นานถึง 8 เดือน หรือคิดเป็นประมาณ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งนับว่าสูงกว่าเกณฑ์มากทีเดียว

หากแบ่งเป็นประเภทสินทรัพย์ ทุนสำรองของไทยประกอบด้วย สินทรัพย์ต่างประเทศ 210 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (89%) ทองคำ 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (8%) สินทรัพย์ส่งสมทบที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.5%) และสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Right : SDR) 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4%)

การมีทองคำในทุนสำรองช่วยสร้างความเชื่อมั่น เพราะทองคำเป็นโลหะมีค่าซึ่งคนทั่วโลกเชื่อมั่นมาแต่โบราณ คนใช้ทองคำเพื่อสะสมมูลค่าและความมั่งคั่ง รวมถึงใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมานานแล้ว แต่การมีสินทรัพย์ส่งสมทบที่ IMF และ SDR เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองด้วย คงเป็นสิ่งที่หลายท่านไม่คุ้นเคย ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกันต่อไปครับ

ประเทศที่เข้าร่วม IMF จะชำระค่าสมาชิกในตอนเริ่มต้น ซึ่งเรียกว่า Quota โดยส่วนหนึ่งของ Quota จะเป็นเงินตราต่างประเทศที่ส่งสมทบไว้ที่ IMF (Reserve Position in the IMF) สินทรัพย์ดังกล่าวยังนับเป็นทุนสำรองอยู่ เปรียบเสมือนเราเปิดบัญชีไว้กับ IMF นั่นเอง และสามารถเบิกมาใช้เมื่อต้องการได้

สำหรับสิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ SDR นั้น เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งสำหรับทุนสำรอง หากอุปมาให้เข้าใจง่าย SDR จะมีคุณสมบัติคล้ายกับวงเงินสำหรับเบิกเกินบัญชี (Overdraft Account) ที่ธุรกิจคุ้นเคยกันนั่นเอง โดย SDR สามารถนำไปใช้แลกเป็นเงินตราต่างประเทศได้เมื่อต้องการ แต่ก็มีค่าต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเมื่อใช้งานด้วย

การสร้าง SDR นั้นมีที่มา ซึ่งจะขอขยายความต่อไป

ปกติแล้วทุนสำรองจะเก็บเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลหลัก ซึ่งมีสภาพคล่องสูง และนิยมใช้ในการค้าระหว่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือเก็บเป็นทองคำ

อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกาไม่สามารถพิมพ์เงินดอลลาร์แบบไร้ขีดจำกัดได้ตลอดไป และทองคำในโลกนี้ก็มีจำนวนจำกัด ดังนั้น IMF และประเทศสมาชิกจึงร่วมกันสร้างสินทรัพย์สำหรับทุนสำรองขึ้นมาในปี 1969 ซึ่งก็คือ SDR นั่นเอง

โดย 1 SDR จะมีมูลค่าเท่าไร IMF จะคำนวณจากตะกร้าสกุลเงินหลักที่ใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินนั้นในวงกว้าง ปัจจุบันตะกร้า SDR ประกอบด้วยเงิน 5 สกุลซึ่งมีน้ำหนักแตกต่างกัน ดังนี้ ดอลลาร์สหรัฐ (43.38%) ยูโร (29.31%) หยวน (12.28%) เยน (7.59%) และปอนด์ (7.44%) ซึ่ง IMF จะทบทวนสกุลเงินและน้ำหนักทุก ๆ 5 ปี

โดยข้อมูลล่าสุด (ก.ย. 2024) 1 SDR มีมูลค่าประมาณ 1.34 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราดอกเบี้ยของ SDR จะคำนวณมาจากดอกเบี้ยของ 5 สกุลเงินดังกล่าวเช่นเดียวกัน

IMF จะเป็นผู้ทำบัญชีและจัดสรร SDR ให้กับแต่ละประเทศตามโควตา ซึ่งอิงกับสูตรที่พิจารณาปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ขนาดเศรษฐกิจและสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศ โดยการจัดสรรดังกล่าวจะทำให้ทุนสำรองของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นในทันที

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันมีการจัดสรรทั้งสิ้น 660 พันล้าน SDR ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 900 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การจัดสรรครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 2021 เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินโลกในการรับมือวิกฤตโควิด ซึ่งมีการจัดสรรถึง 456.5 พันล้าน SDR คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้นทีเดียว

เมื่อได้รับการจัดสรร SDR เข้าไปในทุนสำรองแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศได้แลกเปลี่ยน SDR เป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้นำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ยารักษาโรค โดยจ่ายอัตราดอกเบี้ยตาม SDR ที่ใช้ไป

ขณะเดียวกัน ประเทศที่รับแลกเงินตราต่างประเทศกับ SDR จะได้ดอกเบี้ยจาก SDR ส่วนที่เพิ่มขึ้นในทุนสำรอง ซึ่ง IMF จะทำหน้าที่ตัวกลางรับและจ่ายดอกเบี้ยที่เกี่ยวข้องกับ SDR ดังกล่าว

โดยสรุป SDR คือสินทรัพย์สำหรับทุนสำรองที่สร้างขึ้นมาด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกของ IMF เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ สามารถทำการค้าและการลงทุนได้อย่างมั่นใจ ทำให้ทุนสำรองไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปเงินสกุลหลักหรือทองคำเท่านั้น แต่รวมถึง SDR ที่มาจากความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์แบบพหุภาคีของประชาคมโลกด้วย

ดังนั้น การเข้าใจและเข้าถึงกลไกระหว่างประเทศต่าง ๆ จะช่วยให้ไทยสามารถรักษาเสถียรภาพด้านต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.