ส่งออกแป้งมัน ฝ่าแรงต้าน รักษาตำแหน่งเบอร์ 1 โลก
SUB_NUM September 20, 2024 10:40 AM
สัมภาษณ์พิเศษ

แป้งมันสำปะหลังสินค้าส่งออกสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากจากปัญหาวัตถุดิบ “มันสำปะหลัง” ที่เสียหายต่อเนื่องจากโรคใบด่างมานานหลายปี ขณะเดียวกันตลาดส่งออกจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับหนึ่ง กำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลต่อกำลังซื้ออย่างมาก ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายชุมพล ขจรเจริญศักดิ์” นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลัง ถึงทิศทางตลาดแป้งมันในปีนี้ เพื่อรักษาเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกแป้งมันอันดับ 1 ในตลาดโลก

มันสำปะหลังไม่ถึง 20 ล้านตัน

สมาคมแป้งมันสำปะหลังได้ลงพื้นที่สำรวจผลผลิตฤดูกาลผลิต 2566/67 ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณผลผลิต 19 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้ถือว่าลดลงเยอะเป็นประวัติการณ์ จากเดิมที่มีผลผลิตมากกว่า 20 ตัน และกำลังจะสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน 2567 นี้

ส่วนผลผลิตในฤดูกาลหน้า จะมีการสำรวจครั้งใหญ่ในปลายเดือนกันยายน 2567 นี้ ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยปัจจุบันผลผลิตมันสำปะหลังของไทยยังมีปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดของโรคใบด่าง ที่กระจายไปทั่วประเทศที่ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตต่อไร่มีการปรับตัวลดลง

ปี’67 ส่งออกแป้งมันนิ่ง 3 ปี

การส่งออกแป้งมันสำปะหลังในปี 2567 ในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ขยายตัว 20% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะตลาดยังมีความต้องการนำเข้าอยู่เป็นจำนวนมาก คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ทั้งปีจะมีปริมาณ 4 ล้านตัน เทียบเท่ากับปี 2566 การส่งออกแป้งมันได้ 4 ล้านตัน ซึ่งการส่งออกแป้งมันไทยยังเป็นอันดับ 1 ในตลาดโลก

ส่วนความต้องการใช้ภายในประเทศเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งในปี 2567 นี้คาดว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านตัน จากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มเติบโตมากขึ้น

ตลาดแป้งมันของไทยยังเป็นตลาดจีน ซึ่งส่งออกไปประมาณ 70-80% ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนการส่งออกที่เหลือจะส่งออกไป เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นทั้งตลาดส่งออกสำคัญและคู่แข่งของไทยด้วย โดยในปีนี้อินโดนีเซียมีผลผลิตน้อยและประสบปัญหาเรื่องของโรคใบด่าง จึงมีความต้องการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น โดยตลาดอินโดนีเซียจะนำเข้าหรือส่งออก ขึ้นอยู่กับผลผลิตและปัญหาภายในประเทศ

บาทแข็ง-ใบด่างฉุดส่งออก

สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกแป้งมัน เรายังคงให้ความสำคัญและติดตามเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยขณะนี้เงินบาทเฉลี่ยที่ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากช่วงต้นปีที่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อปัจจัยการแข่งขันและการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร

ขณะเดียวกันปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบด่างก็ยังเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อส่งผลต่อปริมาณผลผลิต ทำให้การผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ลดลง ซึ่งสถานการณ์ของปัญหาโรคใบด่างขณะนี้น่าจะกระจายไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ เป็นการประเมินเบื้องต้นจากการสำรวจและติดตามจากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เกษตรกรเริ่มรับรู้ถึงปัญหาว่า โรคใบด่างกระทบทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงจากที่ในอดีตอาจรับรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เพราะความเสียหายที่เกษตรกรสัมผัสว่ามันสำปะหลังได้รับความเสียหายน้อย 10-20% แต่ปัจจุบันขยายไปถึง 50% แล้ว”

“ราคามันไทย” สูงกว่าแข่งยาก

ปัญหาโรคใบด่างที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้ราคามันสำปะหลังขยับเพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตน้อย ตลาดเกิดการแย่งรับซื้อ ราคาหัวมันสดเชื้อแป้งที่ 25% อยู่ที่ 2.50-3.00 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าจะเทียบในช่วงปีที่ผ่านมาที่เคยสูงทะลุ 3 บาท ไม่ได้ แต่ก็ถือว่าราคามันสำปะหลังตอนนี้ราคาดี เป็นระดับราคาที่เกษตรกรและผู้ประกอบการแป้งมันสามารถทำตลาดส่งออกได้ไม่มีปัญหา โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดโลก เฉลี่ยที่ 540 เหรียญสหรัฐต่อตัน คิดทอนเป็นราคาซื้อขายภายในประเทศที่ 16-17 บาทต่อกิโลกรัม

“ราคามันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น หากนำไปเทียบกับสินค้าทดแทน คือ ข้าวโพด ตอนนี้ราคาถูกกว่าทำให้แข่งขันยาก แต่ยังไม่น่ากังวลมาก เพราะบางอุตสาหกรรมยังมีความต้องการแป้งมันสำปะหลัง เพราะแป้งข้าวโพดไม่สามารถใช้ทดแทนได้ แต่หากเทียบกับราคาแป้งมันของเวียดนามถูกกว่าของไทย 5% เช่น แป้งมันไทย 540 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาของเวียดนามจะอยู่ที่ 510-520 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่แป้งมันสำปะหลังของไทยมีคุณภาพสูง จึงเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก”

เวียดนามมีพันธุ์ใหม่สู้

การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธุ์มันสำปะหลังที่ทนทานต่อโรคระบาดใบด่าง ซึ่งมีออกมาก่อนไทยและมีการนำมาเพาะปลูกแล้ว อีกทั้งประสิทธิภาพการปลูกของเวียดนามสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยต่ำกว่า

แม้ปัจจุบันผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศเวียดนามจะยังมีปริมาณน้อยกว่าประเทศไทยครึ่งหนึ่ง แต่ในอนาคตก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ว่าเวียดนามจะดึงส่วนแบ่งตลาดแป้งมันของไทยในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 1 แสนล้านบาทได้

ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพื่อให้ต้นทุนผลผลิตต่ำลง โดยจะต้องแก้ปัญหาเรื่องของโรคใบด่าง และเร่งพัฒนาและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ซึ่งหน่วยงานจากต่างประเทศได้มีการประเมินผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่จะคุ้มต่อทุน จำเป็นจะต้องมีผลผลิตให้มากกว่า 3 ตันต่อไร่ หากน้อยกว่าการแข่งขันก็จะลำบาก

เตรียมพบพาณิชย์กระทุ้งงบฯ

การพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังที่ทนทานต่อโรคใบด่างของไทย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาและวิจัยยังมีความล่าช้าอยู่มาก อีกทั้งยังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยพันธุ์มันสำปะหลังที่ทนทานต่อโรค ยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณออกมา จากที่ได้มีการเสนอของบประมาณไป 800 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์ทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาล ทำให้การพัฒนาสายพันธุ์ยังมีความล่าช้าออกไปอีก คาดหวังว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร (อิ๊งค์) จะเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

โดยเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมจะเร่งประสานขอเข้าพบ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ เพื่อหารือในเรื่องของการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างในมันสำปะหลังและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการเพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมไปถึงการทำตลาดและขยายส่งออกแป้งมันให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากความช่วยเหลือของภาคเอกชน และสมาคม มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ที่ให้งบประมาณ 5 ล้านบาท ไปพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังที่ทนทานต่อโรคใบด่าง เชื่อว่าจะมีพันธุ์ใหม่ออกมาได้ในช่วงต้นปี 2568 และจะสามารถกระจายให้กับเกษตรกรนำไปปลูกได้ แต่ปริมาณที่ออกมาจะยังไม่มาก ซึ่งหากจะให้มีพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคและกระจายให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงอาจจะต้องใช้งบประมาณถึง 3,000 ล้านบาท

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.