“สรวงศ์ เทียนทอง” เปิดสูตรใหม่ ดึงเอกชนร่วมขับเคลื่อนเที่ยวไทย
SUB_NOI September 20, 2024 10:40 AM
สัมภาษณ์

รัฐบาลเพื่อไทยโดยอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2567 เมื่อครั้ง “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” เข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เมื่อเดือนกันยายน 2566 และต่อเนื่องถึง “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” (พฤษภาคม 2567) ไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท

ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม-14 กันยายน 2567 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมแล้ว 24.7 ล้านคน สร้างรายได้รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน จำนวน 4.98 ล้านคน ตามด้วย มาเลเซีย 3.48 ล้านคน อินเดีย 1.43 ล้านคน เกาหลีใต้ 1.31 ล้านคน และรัสเซีย 1.11 ล้านคน

และหลังจาก “แพทองธาร ชินวัตร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ได้ส่ง “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

ยึดเป้ารายได้ 3 ล้านล้าน

“สรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมาย นโยบาย และแนวทางการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่า วาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในด้านการท่องเที่ยวคือการพยายามผลักดันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากที่สุด และมีการใช้จ่ายต่อคนให้เพิ่มขึ้นได้มากที่สุด

รวมถึงให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน

“แม้ว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเป็นกระทรวงขนาดเล็ก แต่เป็นกระทรวงหลักที่สร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ และมีหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนหลายส่วน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย ฯลฯ”

“สรวงศ์” บอกว่า สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้นั้นยังยืนยันเหมือนเดิม ยังคงเป็นตัวเลขเดิม โดยได้ตั้งเป้ารายได้รวมที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ส่วนเป้าหมายของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้ 3.5 ล้านล้านบาทนั้น ตนจะพยายามผลักดันไปให้ดีที่สุด

เพิ่มใช้จ่าย “จีน-รัสเซีย-อินเดีย”

ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการจัดงาน การแข่งขันรายการ “โมโตจีพี 2024” รวมถึงงาน Amazing Thailand Marathon การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น เทศกาลลอยกระทง หรือเคานต์ดาวน์ ซึ่งก็มีการวางแผนเอาไว้เรียบร้อยแล้ว จึงมั่นใจว่าน่าจะสร้างเม็ดเงินได้

“ผมมั่นใจว่าการจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ นี้ จะสร้างเม็ดเงินได้พอสมควร อาจจะไม่ได้ 3.5 ล้านล้านบาท แต่ผมมั่นใจจะได้ตามเป้าหมายของกระทรวง คือ 3 ล้านล้านบาทแน่นอน”

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท จะต้องเร่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดหลัก อาทิ จีน รัสเซีย อินเดีย และมาเลเซีย ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้เงินต่อหัวต่อคนเพิ่มขึ้น และให้มีการอยู่ในประเทศไทยให้นานขึ้น

โดยจะมีการปรับแผนในเรื่องของอีเวนต์ต่าง ๆ รวมถึงสร้างความประทับใจ สบายใจ และสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย

เล็งต่อมาตรการ “วีซ่าฟรี”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมองถึงการขยายระยะเวลายกเว้นการตรวจลงตรา หรือวีซ่าฟรี สำหรับบางประเทศด้วย โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศจะมีการประสานงานให้ทุกภาคส่วนดำเนินการต่อ

และจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตรา โดยเน้นการอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจลงตราสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ ต่อไป

พิจารณาเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน

ต่อคำถามว่า เรื่องของการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท สำหรับการเดินทางทางอากาศ และ 150 บาท สำหรับการเดินทางทางบกและทางน้ำ ที่ผ่านที่ชุมคณะรัฐมนตรีมานานแล้ว เมื่อไหร่จะได้ฤกษ์จัดเก็บสักที “สรวงศ์” บอกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่าควรจะดำเนินการจัดเก็บ เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ตนขอพิจารณาและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งว่าจะดำเนินการจัดเก็บอย่างไร และเมื่อไหร่

หนุน Man-made Destinations

ส่วนเรื่องของการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ Man-made Destinations เช่น สวนสนุก เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ รวมถึงการนำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินลงสู่ผู้ประกอบการในประเทศนั้นมองว่าต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเช่นกัน

โดยภาครัฐจะเป็นคนสนับสนุนและพร้อมสานต่อนโยบายต่อเนื่องจาก Ignite Tourism Thailand และเชื่อว่าผู้ประกอบการเอกชนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกันมากขึ้น และต้องปรึกษากันว่าเราจะทำยังไงให้มีการเอื้อประโยชน์ให้กันได้ด้วย

สานต่อ “เมืองน่าเที่ยว”

“สรวงศ์” ยังบอกอีกว่า เช่นเดียวกับการขับเคลื่อน “เมืองน่าเที่ยว” ที่อยากให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ซึ่งต้องสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนในการเข้ามาลงทุนด้วย เช่น หากทำสัญญาร่วมกัน 5 ปี หรือ 10 ปี ก็จะสร้างความมั่นใจด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในด้านภาษี เป็นต้น เพื่อช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ

รวมถึงเรื่องของการขยายสนามบินก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประเด็นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว

“ผมเองก็อยากจะเห็นเมืองไทยเป็นฮับด้านการท่องเที่ยว โดยจะมุ่งเน้นจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน เห็นศักยภาพจังหวัดไหนสามารถดึงมาทำได้เลย”

เร่งดึงงบฯหนุนท่องเที่ยว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯคนใหม่ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ตนจะพยายามผลักดันงบประมาณสนับสนุนการท่องเที่ยวและกีฬาให้มีมากขึ้น รวมทั้งเตรียมนโยบายใหม่ ๆ ไว้อีกส่วนหนึ่งด้วย

เช่น การดึงกีฬาที่แปลกใหม่เข้ามาจัดในเมืองไทยให้มากขึ้น หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น “เมดิคอลฮับ” เป็นต้น

พร้อมทิ้งท้ายว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ถือเป็นความท้าทายหนึ่งในการขับเคลื่อนรายได้ท่องเที่ยวสู่เป้าหมายรายได้ 3 ล้านล้านบาทด้วย

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.