“ชูศักดิ์” เผยเพื่อไทยเตรียมยื่นแก้กฎหมายพรรคการเมือง รื้อคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ปัดเอื้อ “ทักษิณ” หวนคืนคุมบ้านเก่า พร้อมแก้ไขยุบพรรค-ครอบงำ-อำนาจ ป.ป.ช.
วันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการเตรียมยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ว่าจะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา และพิจารณาในรัฐสภา โดยจะมีการแก้ไขในหลายเรื่อง
ยกตัวอย่าง เช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ ตนคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน
เมื่อถามว่า การแก้ไขนี้เพื่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า “ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย ก็ไม่ต้องไปพูดว่าหมายถึงใครยังไงอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว. ในนั้นไม่เห็นด้วย ส่วน สว. ชุดปัจจุบันนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ว่าในอนาคต”
ขณะเดียวกันก็จะไปดูการแก้เรื่องยุบพรรค การครอบงำพรรค ว่าจำกัดไว้อย่างไรให้เหมาะสม โดยเรื่องการยุบพรรคเราก็จะเน้นไปที่เรื่องเฉพาะการล้มล้างการปกครอง ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไม่เอาถูกยุบพรรค
ส่วนเรื่องการครอบงำก็จะปรับว่าจะทำอย่างไรให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไร ๆ ก็ครอบงำหมด
เมื่อถามว่า กังวลข้อหาหรือไม่ ว่าการแก้ไขกฎหมายจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง นายชูศักดิ์ระบุว่า ตนขอย้ำเราทำกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมพอสมควร ขอพูดง่าย ๆ คนที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญาท้ายที่สุดเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ พร้อมถามกับสื่อว่าเป็นธรรมหรือไม่ ถ้ามาตั้งคำถามว่าแก้เพื่อตัวเองอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ตั้งคำถามได้หมด
นายชูศักดิ์ยังกล่าวถึงการยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ว่าจะแก้ในบางประเด็น กรณีแรกคือ มีความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช. สั่งไม่มีมูล หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ซึ่งเคยยื่นมาแล้ว
แต่ท้ายที่สุดมีข้อทักท้วงบางประการก็นำกลับมาแก้ และขณะนี้ก็จะแก้ใหม่ พร้อมทั้งแก้เรื่องอื่น ๆ ไปด้วย เช่น เรื่องอำนาจฟ้องเองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรามองว่ากรณีที่ ป.ป.ช. มีคำสั่งว่ามีมูลหรือฟ้อง แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ตั้งกรรมการร่วมกันก็บอกว่าไม่ฟ้อง แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช. ก็ไปฟ้องเอง ซึ่งหากเป็นแบบนี้เราก็มองว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่สอบสวนฟ้องร้องได้เองหมด ทำให้ขัดต่อหลักการคานอำนาจ
ส่วนอีกกรณีบางเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว ควรมีกำหนดระยะเวลาในการรับเรื่องเพื่อทำให้ชัดเจน พร้อมย้ำว่า ควรมีขอบเขตระยะเวลาในการไต่สวนว่าควรเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะมีระยะเวลาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ไม่ใช่สอบไปเรื่อย ๆ 10-20 ปี บางทีชี้มูลไปแล้วตอนเกษียณ เช่น อาจจะกำหนดไว้ 5 ปีก็ได้
ทั้งนี้ ยืนยันว่า การแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไปด้วย และ ป.ป.ช.คาดว่าสัปดาห์หน้าจะยื่นได้พร้อม ๆ กัน