“สหรัฐ” บินด่วนเข้า “ไทย” จี้แก้ปัญหาปลาป่น-อาหารสัตว์ใช้แรงงานบังคับ
SUB_TIK September 21, 2024 02:21 PM

กระทรวงแรงงานสหรัฐ (US. Department of Labor หรือ DOL) ได้เผยแพร่รายงานเพื่อประเมินการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด หรือ Findings on the Worst Forms of Child Labor (TDA Report) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยการจัดทำรายงานประจำปีฉบับนี้เป็นไปตามกฎหมาย US Trade and Development Act 2000 ที่ให้อำนาจกระทรวงแรงงานสหรัฐ “ประเมิน” การดำเนินงานด้านการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของรัฐบาลแต่ละประเทศ

ในปีนี้ประเทศไทยถูกประเมินการดำเนินงานแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กอยู่ในระดับมีความก้าวหน้าปานกลาง (Moderate Advancement) จากที่เคยถูกจัดลำดับอยู่ในขั้นมีความก้าวหน้ามาก (Significant Advancement) ในปี 2560

ในรายงาน TDA Report ประจำปี 2567 ได้ประเมินการดำเนินการของรัฐบาลไทยในปี 2566 พบว่า มีการเพิ่มการดำเนินคดีต่อบุคคลที่มีความพยายามแสวงหาประโยชน์จากการค้าทางเพศจากเด็ก 197 คดี จากเดิม (ปี 2565) 67 คดี นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ลงทะเบียนและบุตร ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์ด้ายการใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ สามารถลงทะเบียนอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังสร้างเครือข่ายป้องกันด้านแรงงานขึ้นใน Line มีสมาชิกจำนวน 2,106 คน ครอบคลุม 33 จังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศได้ในเรื่องของ อายุขั้นต่ำ
ในการทำงาน และยังขาดข้อมูลการใช้แรงงานเด็กในภาคส่วนเกษตรกรรม การผลิตเครื่องนุ่งห่ม การทำงานบ้าน การก่อสร้าง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL) ยังได้ทำคำเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย (รายละเอียดตามตารางประกอบ) เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก สำหรับการประเมินใน
ปี 2567 ที่จะระบุไว้ใน TDA Report ประจำปี 2568 เพื่อพิจารณาว่า
ประะเทศไทยจะถูกจัดลำดับการดำเนินงานที่ดีกว่าปีนี้หรือไม่ (ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในขั้น Moderate Advencement ที่แย่กว่าปี 2560 ที่ถูกจัดอยู่ในขั้น Significant Advancement)

3 สินค้าถูกขึ้นบัญชีใหม่

นอกเหนือจากการจัดลำดับประเทศไทยใน รายงาน TDA Report แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL) ยังได้จัดทำ บัญชีรายชื่อสินค้าที่เชื่อได้ว่าผลิตโดยมีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ (List of Good Product by Child Labor or Forced Labor หรือ บัญชี TVPRA List) กับบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานขัดหนี้ (List of Products Produced by Forced or Indentured Child Labor หรือ บัญชี EO List) ภายใต้กฎหมาย Traffacking Victims Protection Act (Section 133 (a) of Public Law 115-425

โดยในปีนี้ DOL ได้ทำการถอดถอนรายการสินค้า “กุ้ง” จากประเทศไทยออกจากบัญชี TVPRA List/EO List หลังจากที่ กุ้งไทย ติดอยู่ในบัญชีนี้มาตั้งแต่ปี 2560 (พร้อม ๆ กับรายการสินค้าอ้อย-เครื่องนุ่งห่ม-ปลา-สื่อลามก ที่ยังคงติดอยู่ใน 2 บัญชีนี้ มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน) แต่การถอดถอนรายการสินค้ากุ้งเป็นการถอนเฉพาะ กุ้งที่มีการผลิตจากการใช้แรงงานเด็ก แต่ DOL ให้คงรายชื่อ ประเทศไทย ยังเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ากุ้งโดยมีการใช้แรงงานบังคับที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มรายการสินค้าไทยอีก 3 รายการ ได้แก่ ปลาป่น, น้ำมันปลา, อาหารสัตว์ เข้าไปไว้ในบัญชี TVPRA List/EO List ประจำปีนี้ด้วย

จากเหตุผลที่ว่า สินค้าทั้ง 3 รายการ (ปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์) ที่ผลิตในประเทศไทย มีการใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากการใช้แรงงานบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุดิบสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงในประเทศ เนื่องจาก “ปลา” ยังอยู่ในบัญชี TVPRA List/EO List ถูกกล่าวหาจาก DOL มีการใช้แรงงานเด็ก/แรงงานบังคับ ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวในเรือประมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ทำงานมากกว่า 20 ชั่วโมง มีการละเมิดทางร่างกาย และไม่มีเอกสารระบุตัวตนและเอกสารการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย

นั่นหมายความว่า เฉพาะรายการสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากการประมง ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง, ปลาป่น, น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ ยังคงถูก DOL กล่าวหามีการใช้แรงงานในรูปแบบแรงงานบังคับ เฉพาะปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์ แม้จะเป็น By Product แต่ถือว่าวัตถุดิบที่นำมาทำปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์ คือ ปลา/เศษปลา ถูกจับมาจากเรือประมงที่ยังคงมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับอยู่

กระทรวงแรงงานสหรัฐมาไทย

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า ในระหว่างวันที่ 23-27 กันยายนนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (TDA Report) จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย ในเรื่องนี้ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำวอชิงตัน ได้รายงานการประชุมเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ DOL ก่อนที่จะเข้ามาประเทศไทย โดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันการทำประมงทะเลและจำนวนเรือประมงของประเทศไทยได้ลดน้อยลงมากแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรการการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU ของสหภาพยุโรป ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” โดยประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้ สัตยาบันพิธีสารแรงงานบังคับ (P29) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ต่อต้านการค้ามนุษย์ เพื่อคุ้มครองแรงงาน

“แม้การที่สินค้าถูกขึ้นบัญชีมีการใช้แรงงานเด็ก/แรงงานบังคับจะไม่ส่งผลต่อการคว่ำบาตรทางด้านการค้า แต่การถูกกล่าวหาในเรื่องนี้จะถูกใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษี หรือ GSP ที่ประเทศไทยยังได้รับอยู่ การเจรจาการค้า FTA รวมไปถึงภาพลักษณ์ของสินค้า”

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้ชี้แจงในกรณีของ สินค้าน้ำมันปลา ที่เพิ่งถูกขึ้นบัญชี TVPRA List/EO List ในปีนี้ว่า น้ำมันปลาส่วนใหญ่ได้มาจากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานทูน่ากระป๋อง ซึ่งวัตถุดิบปลาทูน่าที่ถูกผลิตเป็นน้ำมันปลา ซึ่งเป็น By Product เกือบทั้งหมดมาจากการนำเข้า ไม่ได้รับซื้อมาจากเรือประมงไทย ส่วนกรณีกุ้งนั้น แม้ประเทศไทยยังคงถูกกล่าวหาว่า มีการใช้แรงงานบังคับที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งของไทยมีขนาดลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกกุ้งลดลงไปมาก ส่วนอุตสาหกรรมปลาป่น นอกเหนือจากการผลิตจากปลา/เศษปลาแล้ว ยังรับวัตถุดิบมาจากเศษอาหารจากโรงงานแปรรูปอาหารด้วย

อาหารสัตว์ติดบัญชีอีก 2 ปี

ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ กลุ่มอุตสาหกรรมทูน่า สมาคมอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มอุตสาหกรรมปลาป่น ได้เข้าหารือกับกรมประมง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ถูก กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL) กล่าวหา มีการใช้แรงงานบังคับ

“เราได้รับฟังสาเหตุของการนำอาหารสัตว์เข้าไปอยู่ในบัญชีรายการสินค้าที่มีการใช้แรงงานบังคับ รับฟังเหตุผลการออกประกาศของกระทรวงแรงงานสหรัฐ พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงในที่ประชุมไปว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง โดยจะเห็นได้ว่าแม้จะถูกกล่าวหา แต่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องของไทยยังสามารถจำหน่ายในห้าง Walmart ได้ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้าไทยได้เป็นอย่างดี”

อย่างไรก็ตาม การถูกขึ้นบัญชี TVPRA List/EO List จะมีผลบังคับ 2 ปี หรือจนกว่าจะมีประกาศถอดถอนรายการสินค้าอาหารสัตว์ออก ตรงนี้ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการได้รับแรงกดดันจากผู้ประกอบการสหรัฐที่ต้องพิจารณานำเข้าสินค้าที่มาจากไทยอย่างเข้มงวดขึ้น แต่กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็จะดำเนินการภายใต้กฎหมายและข้อบังคับทั้งของประเทศไทย และข้อบังคับสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องของแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน ก็ได้ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ มาตรฐานที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างเต็มที่เช่นกัน

“ในวันที่ 24 กันยายน เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL) จะหารือกับกระทรวงแรงงานในเรื่องนี้ เราคาดหวังว่าการชี้แจงและให้รายละเอียดข้อมูลของกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ ไปก่อนหน้านี้ จะช่วยให้กระทรวงแรงงานชี้แจงกับ DOL ถึงการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายของฝ่ายไทย และผู้ประกอบการเองก็พร้อมที่จะรวบรวมข้อมูลและตอบข้อสงสัยของ DOL โดยเราคาดหวังว่า DOL จะปลดสินค้ารายการอาหารสัตว์ออกจากบัญชี TVPRA List/EO List ได้ในโอกาสต่อไป” นายพรศิลป์กล่าว

ส่วน นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การปลดสินค้ากุ้งไทยออกจากบัญชีที่มีการกล่าวหาว่า มีการใช้แรงงานเด็ก ถือเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทย และยังเป็นจิตวิทยาที่ดีกับผู้บริโภคในสหรัฐด้วย ในการตัดสินใจซื้อสินค้ากุ้งไทยได้ดีขึ้น ปัจจุบันไทยยังคงส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐตามปกติ ผู้นำเข้าสหรัฐยังคงนำเข้าสินค้าไทย แม้ที่ผ่านมาสินค้าไทยจะติดอยู่ในบัญชีมีการใช้แรงงานเด็กก็ตาม ในภาพรวมการส่งออกกุ้งไปสหรัฐในปี 2567 จะขยายตัว 5% หรือ 150,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 48,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2566 ขยายตัว 7% ปริมาณ 130,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 45,000 ล้านบาท แม้ปริมาณการส่งออกกุ้งจะลดลง แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น

“สมาคมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอย่างเต็มที่ และหยุดการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย สมาชิกสมาคมทั้งโรงงานขนาดใหญ่และขนาดกลางปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในแรงงานทุกส่วน รวมทั้งแรงงานต่างด้าวก็เข้ามาอยู่ในระบบถูกต้องตามกฎหมาย 100% ส่วนโรงงานขนาดเล็ก ล้ง ที่อยู่นอกสมาคม ซึ่งเราไม่สามารถติดตามได้ ในกลุ่มนี้หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาตรวจสอบดูแลติดตามเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อภาพลักษณ์ทางการค้า การส่งออกสินค้ากุ้งไทยต่อไป” นายอนุชากล่าว

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.