โรงงานอาหารสัตว์แจง 9 ปมร้อน บีบซื้อข้าวโพด 8 บาท ไม่ได้แก้วิกฤต
SUB_TIK September 21, 2024 05:20 PM
สัมภาษณ์

ธุรกิจผู้ผลิตอาหารสัตว์ของประเทศไทย ปัจจุบันมีอยู่ 50 ราย ผลิตอาหารสัตว์ครอบคลุม 90% ของประเทศ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องพบกับปัญหาอุปสรรค ทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ถึงสถานการณ์ปัญหาการผลิต โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีให้หลัง ประเทศไทยขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ กว่าปีละ 3 ล้านตัน และล่าสุดปี 2567 นี้อาจจะขาดแคลนมากขึ้นถึง 4 ล้านตัน

ความท้าทาย “อาหารสัตว์”

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในปี 2567 อยู่ที่ 21.30 ล้านตัน ขยายตัวจากปี 2566 ที่มีปริมาณ 20.3 ล้านตัน เป็นการเติบโตภายใต้มาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น มาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 ส่วน และรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 1 ส่วน หรือ มาตรการ 3:1 ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมไม่เติบโตไปมากกว่านี้แล้ว เพราะปริมาณผลผลิตข้าวโพดที่ไทยสามารถผลิตได้ลดลง จาก 5 ล้านตันเมื่อปีก่อน จะเหลือ 4.89 ล้านตันในปีนี้ สวนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ไทยจึงอาจจะขาดแคลนข้าวโพดที่จะนำมาใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบ

อีกทั้ง หากซื้อข้าวโพดตามมาตรการ 3:1 คำนวณจากปริมาณผลผลิตข้าวโพดในปัจจุบันที่มีอยู่ 4.89 ล้านตัน เทียบออกมาจะสามารถนำข้าวสาลีประมาณ 1.5 ล้านตัน โดยเฉลี่ยแล้ว และเมื่อรวมการนำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้าน ประมาณ 3 ล้านตัน ก็ยังขาดแคลน 3.9 ล้านตัน

ขณะเดียวกันราคาข้าวโพดของไทยยังสูงกว่าหลายประเทศ ล่าสุดเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 12.23 บาทต่อกก. ส่วนราคาข้าวโพดในตลาดโลกอยู่ที่ 5.50 บาทต่อ กก.

ทั้งยังไม่สามารถนำเข้าได้เสรี เพราะมีเรื่องของโควตาและภาษีมาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยจะต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี จำกัดเพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์อยู่ โดยการผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่นั้นใช้ภายในประเทศเป็นหลัก มีเพียงส่งออกอาหารสัตว์สำเร็จรูปเพียงเล็กน้อยที่ไปต่างประเทศเท่านั้น

และในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า อียูจะออกมาตรการเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรที่รุกป่า (EUDR) จะเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่จะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์ และศักยภาพการแข่งขันในอนาคต นับเป็นปัจจัยที่หลายหน่วยงานควรจะเร่งเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

โต้แย้งเกษตรกร จ.เพชรบูรณ์

ในกรณีข้อเรียกร้องของเกษตรกรจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ได้ออกมายื่นข้อเสนอให้เรื่องการรับซื้อข้าวโพด 9 ข้อ ซึ่งผู้ผลิตอาหารสัตว์มีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอ 1.ที่กำหนดให้รับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร (ความชื้น 30%) ราคา 8 บาทต่อ กก.

“เรามีข้อสังเกตว่าราคา 8 บาท หากคำนวณเป็นต้นทุนแล้วจะทำให้ในตลาดปรับขึ้นไปกว่า 10.80 หรืออาจจะถึง 11 บาทต่อ กก. ขณะที่ข้าวโพดเวียดนามนำเข้าราคา 9 บาทต่อ กก. เท่ากับทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ของไทยมีต้นทุนสูงกว่าเวียดนาม และหากเทียบกับราคาตลาดปัจจุบันข้าวโพด (ความชื้น 14.5%) โรงงานรับซื้อที่ 10.50 บาทต่อ กก. คิดเป็นราคาของข้าวโพดความชื้น 30% จะอยู่ที่ 7.50 บาทต่อ กก.”

2.ขอให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์แจ้งปรับปรุงราคาล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อไม่ให้ปรับราคาเร็วเกินไป จากที่ปกติจะประกาศราคาทุกวันตามอุปสงค์-อุปทาน หากดำเนินการเช่นนั้นจะทำให้เกิดการกระจุกตัว ไม่มีความเคลื่อนไหวในการรับซื้อ

3.ยื่นข้อเสนอปรับเปลี่ยนช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้าน เดิมให้นำเข้าเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม เปลี่ยนเป็นกุมภาพันธ์-กรกฎาคม เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับข้าวโพดของประเทศไทย

เรามองว่าข้อเสนอนี้จะกลายเป็นแรงจูงใจทำให้พ่อค้านำเข้ามามากขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อมาขายราคาภายในประเทศที่สูงกว่า แล้วผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใครและหากปีถัดไปเกิดเหตุการณ์ผลผลิตออกล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์จนอาจต้องหยุดการผลิตได้

4.ให้ตรวจสอบเอกสารการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากผู้ผลิตอาหารสัตว์ว่าซื้อจากเกษตรกรไทยจำนวนเท่าไหร่ต่อปี เพื่อให้ผลผลิตจริงของเกษตรกรไทย ในส่วนนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีการรายงานการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งปริมาณจำนวน ซึ่งส่งรายงานทุกวันที่ 10 ของเดือน ให้กับกรมการค้าภายใน ในเรื่องนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบและขอข้อมูลจากหน่วยงานดังกล่าวได้ แต่ปัญหาคือมีผู้นำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายเป็นข้าวโพดไทยหรือไม่ เห็นควรว่าจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

5.ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปรับเปลี่ยนต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามจริง 6,125 บาทต่อไร่ และผลผลิตของเกษตรกรความชื้น 14.5% ใหม่ มีผลต่อโควตาการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดในประเทศไทย เพื่อไม่ให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศ ต้นทุนที่เสนอนั้น มีข้อสงสัยถึงที่มา หากอิงข้อมูลจาก สศก. อยู่ที่ 5,483 บาทต่อไร่ เรื่องนี้ยังมองว่าอยากให้มีการชี้แจงในรายละเอียดมากกว่านี้

6.ให้สนับสนุนการผลิตข้าวโพดแก่เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท แบบเดียวกับข้าว เพื่อกระตุ้นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการ เรื่องนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่ขัดข้อง แต่ต้องการให้มีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ จะต้องให้มีมาตรฐาน GAP ไม่เผาเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ เพื่อยกระดับเกษตรกรและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย

7.ให้ตรวจสอบการรับรอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้านเดือนกันยายน เพราะยังคงมีการนำเข้าข้าวโพดเข้ามาทับซ้อนกับเกษตรกรไทย ทำให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ชะลอการซื้อข้าวโพดเกษตรกรไทย 8.ห้ามยกเลิกมาตรการ 3:1 และ 9.เสนอให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบความต้องการใช้ในหมวดคาร์โบไฮเดรตมีเกินความต้องการใช้จริงหรือไม่ ผลพวงมาจากการนำเข้าเกินความต้องการทำให้ราคาข้าวโพดภายในประเทศตกต่ำ

แนวคิดข้อ 7-9 ทั้งสามข้อนี้เห็นว่าเป็นการจำกัดจำนวนวัตถุดิบให้ขาดแคลน เพื่อยกระดับราคาข้าวโพด ตั้งแต่มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี ส่งผลให้อาหารสัตว์เติบโตลดลงเหลือเพียงปีละ 1%

ชงรัฐเปิดเสรีนำเข้า

ทางผู้ผลิตอาหารสัตว์จึงได้มีข้อเสนอให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วย โดยผู้ผลิตอาหารสัตว์จะประกันราคารับซื้อข้าวโพดกับเกษตรกรที่ราคาหน้าโรงงาน 9.80 บาทต่อกิโลกรัม ในความชื้น 14.5% โดยคิดจากต้นทุนปลูกที่ 7.41 บาทต่อกิโลกรัม และคิดกำไร ค่าขนส่ง และค่าบริหารจัดการแล้ว

แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลีได้อย่างเสรี และให้มีการยกเลิกมาตรการ 3:1 โดยให้ความมั่นใจว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ทางสมาคมได้ยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบทั้งหน่วยงานกระทรวงและนายกรัฐมนตรี เพราะนำข้อเสนอและข้อคิดเห็นต่าง ๆ

ผวาห่วงโซ่การผลิตปศุสัตว์พัง

“หากไม่แก้ข้อจำกัด ปลดล็อกการนำเข้าในอนาคตอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีโอกาสหยุดเติบโต และหากมีการจำกัดมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ของประเทศ การขาดแคลนเนื้อสัตว์ และยังทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับสูงขึ้นได้ ดังนั้น ภาครัฐควรปลดมาตรการควบคุมการนำเข้าทุกอย่าง เพื่อให้ปศุสัตว์มีวัตถุดิบใช้เพียงพอและมีต้นทุนที่แข่งขันได้เพื่อให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่ได้เรียกร้องรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เราได้ปรับตัวโดยวางระบบตรวจสอบย้อนกลับในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยคาดว่าจะนำมาใช้ได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2568 นี้ ซึ่งระบบนี้จะสามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการใช้ EUDR ที่จะกระทบภาคปศุสัตว์ด้วย

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.