เกิดอะไรกับเยอรมนี รัฐบาลล่ม เศรษฐกิจจ่อปากเหว กลายเป็น ‘อินทรีเหล็กปีกหัก’
SUB_NOI November 14, 2024 11:01 AM

ขณะที่โลกจับจ้องไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทางฝั่งเยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกและใหญ่ที่สุดในยุโรป มีความเคลื่อนไหวสำคัญ นั่นคือการสั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน หลังจากมีความเห็นไม่ตรงกันกับนายกฯและพรรคแกนนำรัฐบาลในเรื่องงบประมาณมาแล้วระยะหนึ่ง

นายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) จากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ปลด คริสเตียน ลินด์เนอร์ (Christian Lindner) ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง พร้อมกล่าวตำหนิว่าลินด์เนอร์ขัดขวางการใช้งบประมาณ เห็นแก่ผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าส่วนรวม และบอกว่าการปลดเขาออกจากตำแหน่งนั้น “จำเป็นต้องทำ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับประเทศ”

ฝั่งลินด์เนอร์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) เมื่อโดนปลดจากตำแหน่งก็นำพรรค FDP ถอนตัวออกจากรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลผสม 3 พรรค ซึ่งประกอบด้วย พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) พรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) และพรรคกรีน ต้องล่มไป เหลือเพียง 2 พรรคที่มีสถานะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ความแตกแยกของรัฐบาลเยอรมนีนั้น มีสาเหตุจากความเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจที่อ่อนแอต่อเนื่องมา 2 ปี รัฐบาลต้องการใช้เงินในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ลินด์เนอร์ผู้คุมคลังไม่อนุมัติงบประมาณให้ จึงเกิดความขัดแย้งกันขึ้นภายใน

ในการแถลงข่าวปลดลินด์เนอร์ นายกฯโชลซ์กล่าวว่า ลินด์เนอร์ปฏิเสธที่จะแสวงหาจุดร่วมในประเด็นเศรษฐกิจ รวมถึงเรียกร้องการลดหย่อนภาษีเป็นมูลค่าหลายพันล้านให้แก่ผู้มีรายได้สูงเพียงไม่กี่คน ขณะเดียวกันก็จะลดเงินบำนาญของผู้รับเงินบำนาญทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรม”

สื่อในเยอรมนีวิเคราะห์ว่า การที่ลินด์เนอร์ตีพิมพ์เอกสารแผนเศรษฐกิจความยาว 18 หน้า ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “การพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี” (Germany’s Economic Turnaround.) ถือว่าเป็นเอกสารประกาศหย่าร้างของรัฐบาลผสม เนื่องจากน้ำเสียงและเนื้อหาของเอกสารดังกล่าวซึ่งสนับสนุนการลดหย่อนภาษีนั้น ขัดแย้งกับจุดยืนของสองพรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน

ปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีทำให้เกิดความระส่ำระสายทางการเมือง ขณะที่ความระส่ำระสายทางการเมืองที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ก็มีแนวโน้มจะทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีที่เป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” อยู่ในขณะนี้ป่วยหนักลงอีก

เมื่อปี 2023 เศรษฐกิจของเยอรมนีอ่อนแอถึงขั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลง และสำหรับปี 2024 นี้ แนวโน้มก็ยังไม่ได้สดใสขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ไว้ก่อนจะมีปัจจัยเรื่องรัฐบาลล่มว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2024 จะอยู่ที่ 0% เท่านั้น กล่าวคือคงที่เท่ากับปีก่อนหน้า ซึ่งจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีเพอร์ฟอร์แมนซ์ทางเศรษฐกิจอ่อนแอที่สุด

นอกจากความอ่อนแอเรื้อรังที่มีมาก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังถูกซ้ำเติมให้แย่ลงอีกจากความยากลำบากของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเผยออกมาให้เห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ จากกรณีที่ “โฟล์คสวาเกน” (Volkswagen) ประกาศว่าจะปิดโรงงานผลิตอย่างน้อย 3 แห่ง

ความยากลำบากของโฟล์คสวาเกนเป็นอีกวิกฤตใหญ่ที่รุมเร้าเศรษฐกิจเยอรมนี เนื่องจากโฟล์คสวาเกนเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยมีสัดส่วนการจ้างงาน 37% ของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการจ้างงานรวมเกือบ 800,000 คน

ตามมาด้วยการประกาศของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) และปอร์เช่ (Porsche) ว่าจะเพิ่มมาตรการลดต้นทุน หลังจากพบว่ากำไรจากการดำเนินงานในตลาดจีนลดลง

ตามการศึกษาล่าสุดโดย สหพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมนี (BDI) พบว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประมาณ 1 ใน 5 ตกอยู่ในความเสี่ยง นับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2030 ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้ว ความเสี่ยงเกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูง และตลาดภายในของเยอรมนีหดตัวลง

นอกจากนั้น รายงานซึ่งเขียนร่วมกันโดยสถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี (IW) กับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป (Boston Consulting Group : BCG) ระบุว่า เยอรมนีกำลังสูญเสียความเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ ที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ เช่น เทคโนโลยีสันดาป (Combustion Technology) ขณะที่การส่งออกของเยอรมนีก็อยู่ภายใต้แรงกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น การปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และจุดอ่อนในด้านที่ตั้งของประเทศเยอรมนีเอง 

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเยอรมนีคือ ประเทศนี้ไม่ได้เป็นฐานที่ตั้งทางธุรกิจที่ให้ความได้เปรียบแก่ธุรกิจ อีกทั้งยังมีข้อเสียเปรียบหลายอย่าง ทั้งอัตราภาษีสูง ต้นทุนแรงงานสูง ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตอ่อนแอลง อีกทั้งมีประชากรสูงอายุในสัดส่วนสูงมาก

ผลการศึกษาของ IW กับ BCG สรุปว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีต้องการความพยายามในการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงหลังสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม ไปจนถึงการศึกษาและเทคโนโลยีสีเขียว เป็นมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านยูโร ภายในปี 2030

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ก็แนะนำเช่นกันว่า เยอรมนีจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน

เมื่อพิจารณาจากคำแนะนำที่หลายสถาบันแนะตรงกัน อาจจะคาดการณ์จากตอนนี้ได้เลยว่า หากเยอรมนีไม่มีการปฏิรูปตามสมควร เศรษฐกิจเยอรมนีที่อยู่บนปากเหวอาจร่วงหล่นลงไปในอีกไม่นาน ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าอาจเป็นเช่นนั้น เพราะการปฏิรูปซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงนั้นเป็นไปได้ยากสำหรับเยอรมนี เนื่องจากมีข้อจำกัดที่เข้มงวดในการกู้ยืมเงินที่เรียกว่า “เด็บต์เบรก” (Debt Brake) ซึ่งเป็นข้อกำหนดการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อรักษาสมดุลงบประมาณ

อ้างอิง : 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.