เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐเดือนตุลาคม 2024 อยู่ที่ 2.6% ผงกหัวขึ้นเล็กน้อยจากอัตราของเดือนกันยายนซึ่งอยู่ที่ 2.4% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงที่อยู่ที่ 3.3% นักเศรษฐศาสตร์คาดปีหน้าเงินเฟ้อสูงขึ้น โอกาสลดดอกเบี้ยมีน้อย
วันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 08.30 น. ตามเวลากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 20.30 น. เวลาไทย สำนักงานสถิติแรงงาน กระทรวงแรงงาน สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนตุลาคม 2024 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ และเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Federal Reserve)
ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนตุลาคม 2024 เพิ่มขึ้น 2.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.6% ผงกหัวเพิ่มขึ้นลงเล็กน้อยจากอัตราของเดือนกันยายนซึ่งอยู่ที่ 2.4%
และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนตุลาคม 2024 เพิ่มขึ้น 0.2% เป็นอัตราคงที่ 4 เดือนติดต่อกัน
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคมอยู่ที่ 3.3% คงที่เท่ากันกับอัตราของเดือนกันยายน
และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 0.3% ป็นอัตราคงที่ 3 เดือนติดต่อกัน
ทั้งนี้ หมวดสินค้าที่ราคา/ค่าบริการเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า คือดัชนีค่าบริการขนส่งและการเดินทางที่เพิ่มขึ้น 8.2% (YOY) รองลงมาคือค่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 4.9% (YOY)
หมวดสินค้าที่มีเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า คือดัชนีราคารถมือสองที่เพิ่มขึ้น 2.7% จากเดือนก่อนหน้า
แต่หมวดสินค้าที่มีน้ำหนักในการทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากที่สุดคือ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งมีส่วนมากกว่า 50% ในการทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในภาพรวมเพิ่มขึ้น
ตามการรายงานของรอยเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในปีหน้า หากโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจของเขา ซึ่งรวมถึงการลดภาษีภาคธุรกิจ การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าการส่งผู้อพยพจำนวนมากกลับประเทศ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่านโยบายเหล่านี้จะทำให้อุปทานแรงงานลดลง ส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น และส่งต่อต้นทุนไปยังราคาผู้บริโภค
แม้มีคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ 25 เบซิสพอยต์ (Basis Point) ซึ่งจะนำอัตราดอกเบี้ยลงจาก 4.50% – 4.75% ไปอยู่ที่ 4.25% – 4.50% แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่ามีโอกาสจำกัดที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีหน้า ซึ่งหมายความว่าการลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้อาจเป็นการลดครั้งสุดท้าย จากนั้นเฟดจะพิจารณาสถานการณ์และข้อมูลใหม่