สอน.จับมือ 10 โรงงานน้ำตาล MOA ร่วมมือลดเผาอ้อย นำร่องพื้นที่ปลูกอ้อย 1 แสนไร่
GH News November 14, 2024 06:13 PM

สอน.จับมือ 10 โรงงานน้ำตาล MOA ร่วมมือลดเผาอ้อย นำร่องพื้นที่ปลูกอ้อย 100,000 ไร่

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.67 นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) การเฝ้าระวังและป้อมปรามการลักลอบเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/2568 ด้วยระบบอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กับ 10 โรงงานน้ำตาลนำร่อง ว่า สอน. ตระหนักถึงความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในไร่อ้อย ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวอ้อยสด สอดคล้องกับนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดรับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร โดย 10 โรงงานน้ำตาลนำร่องที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ได้แก่ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (รวมผล), บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด, บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด, บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด, บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด, บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และบริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) (วังสมบูรณ์)

โดยที่ผ่านมา สอน. ได้เฝ้าระวังการลักลอบเผาอ้อยด้วยการใช้จุดความร้อน (Hotspot) โดยในฤดูการผลิตปี 2566/67 พบจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด จำนวน 2,830 จุด คิดเป็น 2.43% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ 116,502 จุด เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอน. จึงได้ยกระดับการเฝ้าระวังการลักลอบเผาอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ (Drone) สำหรับเก็บข้อมูลภาพยืนยันร่องรอยการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกที่ตรวจพบจุดความร้อนด้วยภาพถ่ายดาวเทียม และระบบอากาศยานไร้คนขับบินวิเคราะห์คุณภาพผลผลิตตัน และค่าความหวานของอ้อย

“สอน. คัดเลือก 10 โรงงานน้ำตาลนำร่องที่ผ่านเกณฑ์พิจารณา เช่น คุณสมบัติในด้านตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อยที่หนาแน่น ความพร้อมทั้งด้านวิสัยทัศน์ ด้านบุคลากรและสิ่งสนับสนุนขั้นพื้นฐานต่อการใช้งานระบบ และมีการกระจายตัวของตำแหน่งของโรงงานนำร่องอย่างทั่วถึง เป็นต้น มาทำข้อตกลงร่วมกันซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 100,000 ไร่ และคาดว่าการใช้เทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ(Drone) ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการติดตามอ้อยในแปลง จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สามารถใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในการป้องปรามการลักลอบเผาอ้อย และจะสามารถขยายผลไปสู่การส่งเสริมรณรงค์ให้เกิดการผลิตอ้อยที่มีคุณภาพและตัดอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่” นายใบน้อยกล่าว

#สอน #โรงงานน้ำตาล #ลดเผาอ้อย #ข่าววันนี้ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.