ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (14/11) ที่ระดับ 34.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/11) ที่ระดับ 34.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของดอลลาร์สหรัฐ หลัง Dollar Index ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 106.68 จุด แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 จากการคาดการณ์ว่านโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรืออาจยุติวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง หลังจากพรรครีพับลิกันภายใต้การนำของนายทรัมป์ ใกล้จะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งจะส่งผลให้พรรคครองอำนาจในสภาคองเกรสได้ทั้งหมด และเปิดทางให้นายทรัมป์ดำเนินนโยบายททางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค. เร่งตัวขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ก.ย. และดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ก.ย. ส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. โดยล่าสุดเครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า
นักลงทุนให้น้ำหนักราว 83% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25%-4.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียงราว 59% ก่อนการเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ต.ค. และการกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในงานเสวนาที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ในวันนี้ (14/11) เพื่อประเมินหาทิศทางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับปัจจัยในประเทศ วันนี้ (14/11) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ต.ค. ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 8 เดือน สู่ระดับ 56.0จากระดับ 55.3 ในเดือน ก.ย. เนื่องจากประชาชนคลายความกังวลจากสถานการณ์น้ำท่วม และรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยคล่องตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ซึ่งเป็นระดับปกติ บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพยังคงสูง และประชาชนยังคงมีความระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอย ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลกและราคาทองคำ โดยตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าของนายทรัมป์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.92-35.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/11) ที่ระดับ 1.0556/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/11) ที่ 1.0616/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นภาษีศุลกากร หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อีกทั้งนายฟรองซัวส์ วิลเลรอย เดอ กาลโฮ ประธานธนาคารกลางฝรั่งเศสและสมาชิกธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า
นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งตัวขึ้นอีกครั้งและอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมของ ECB ครั้งล่าสุดในวันนี้ (14/11) โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0533-1.0568 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0540/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (14/11) ที่ระดับ 155.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/11) ที่ 154.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วานนี้ (13/11) หนังสือพิมพ์ซังเคอิ (Sankei) รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเป็นทุนสำรองสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและบรรเทาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยคาดว่าจะใช้เงินทุนเพิ่มเติมราว 13.5 ล้าน้านเยน (8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยนายอิชิบะ ชิเงรุ นายกรัฐมนตรี กำลังวางแผนที่จะสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 22 พ.ย. นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 155.40-156.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 155.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ PPI เดือน ต.ค. ของสหรัฐ (14/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (14/11), การกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ของนายเจอโรม พาวเวลล์ (14/11), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2567 (ประมาณการเบื้องต้น) ของญี่ปุ่น (15/11), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ของจีน (15/11), ยอดค้าปลีกเดือน ต.ค. ของจีน (15/11), GDP ไตรมาส 3/2567 (ประมาณการเบื้องต้น) ของอังกฤษ (15/11), ยอดค้าปลีกเดือน ต.ค.ของสหรัฐ (15/11), และดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน พ.ย. จากเฟดนิวยอร์ก (15/11)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.0/-6.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ