อโกด้าชี้ไทยดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ เพิ่ม 4 ล้านคนต่อปี หลังจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2568 คาดเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 2 พันล้านดอลลาร์ สร้างงานใหม่ 152,000 ตำแหน่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานวิจัยล่าสุดจากแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวอโกด้า เผยว่า การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม LGBTQIA+ เพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายใน 2 ปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้
การศึกษาเรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย” ซึ่งดำเนินการโดยอโกด้าร่วมกับบริษัท Access Partnership คาดการณ์ว่า ไทยจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน โดยจะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและสร้างงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
โดยรายงานระบุว่า การท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบเชิงบวกอย่างมากจากการที่ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั่วโลกสูงถึง 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายนี้มีดังนี้
นอกจากนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังคาดว่าจะช่วยยกระดับความน่าสนใจของไทยในสายตานักท่องเที่ยว LGBTQIA+ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีการรับรองการสมรสเพศเดียวกัน เช่น คู่รักจากประเทศในเอเชียที่ต้องการจัดงานแต่งงานในสถานที่ที่ยอมรับและรองรับความหลากหลายทางเพศ
ปิติโชค จุลภมรศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดของอโกด้า กล่าวว่า อโกด้ามุ่งมั่นสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมทั้งในหมู่พนักงานและผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของเรา การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับทุกคน
จากการศึกษาของ Access Partnership พบว่าประเทศที่มีการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเห็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10% ภายในสองปีหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ จะเลือกเดินทางไปยังประเทศที่สนับสนุนสิทธิของพวกเขามากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่า 43% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะยกเลิกการเดินทางหากรู้สึกว่าไม่มีการสนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQIA+ ในประเทศปลายทาง
การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้จึงไม่เพียงแต่ส่งเสริมสิทธิเท่าเทียมทางสังคม แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกกลุ่มผู้บริโภค