ครบ 1 ปี ศูนย์ AOC 1441 ลุยปราบบัญชีต้องสงสัย 3.4 แสนเคส
Song Online November 15, 2024 09:44 AM

ดีอีเผยผลงาน 1 ปี AOC 1441 ร่วมหน่วยงานพันธมิตร ลุยปราบ “โจรออนไลน์” ระงับบัญชีต้องสงสัยแล้วกว่า 340,000 เคส ช่วยระงับเหตุต้องสงสัยภายใน 10 นาที

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และภาพรวมของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปี (1 พ.ย. 66-14 พ.ย. 67) ว่า

ภายใต้การร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ กสทช. ดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง

กระทรวงดีอีได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการตามพระราชกำหนดฉบับนี้ขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ได้มีมติให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 โดยกระทรวงดีอีได้จัดตั้งศูนย์ AOC 1441 และเปิดรับสายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีบทบาทและการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

1.ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 จำนวน 100 คู่สาย ให้บริการแบบ One Stop Service ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถระงับ/อายัดบัญชีของคนร้าย (บัญชีม้า) ให้แก่ผู้เสียหายได้ทันทีภายหลังจากรับสาย เฉลี่ยภายใน 10 นาที และส่งข้อมูลต่อให้ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่ต้องติดต่อหรือเดินทางไปแจ้งอายัดกับธนาคาร รวมถึงการติดตามสถานะการแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหาย

2.ศูนย์ AOC เป็นศูนย์กลางในการประสาน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ไปวิเคราะห์ เช่น หาบัญชีม้าแถว 2 แถว 3 หารายชื่อผู้ขายบัญชีม้า และคนร้ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง

3.ศูนย์ AOC เป็นกลไกสำคัญของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการประสานงาน บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน หรือมาตรการสกัดบัญชีม้า จัดกลุ่ม ม้าดำตามฐานข้อมูล HR03 สำนักงาน ปปง. ม้าเทาตามฐานข้อมูล CFR และม้าน้ำตาลตามบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์ต้องสงสัย และสำนักงาน กสทช. ได้ออกมาตรการจัดการซิมผีหรือซิมม้า และการจัดการเสาโทรคมนาคมหรือสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตตามเขตชายแดนที่มีการลักลอบปล่อยสัญญาณเถื่อน

ครบ 1 ปี ศูนย์ AOC 1441

จากการดำเนินงานของศูนย์ AOC ที่ผ่านมา ทำให้ได้รับข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน วิเคราะห์ และกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ได้อย่างตรงจุด โดยจากข้อมูลสถิติการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC ที่รวบรวมตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 ตุลาคม 2567 มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

สถิติการแจ้งเหตุและผลการดำเนินงานของศูนย์ AOC ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566-ตุลาคม 2567 ศูนย์ AOC มีจำนวนการโทร.เข้า 1441 ทั้งหมด 1,176,512 สาย และจำนวนการระงับบัญชีที่ต้องสงสัยอยู่ที่ 348,006 เคส ซึ่งแสดงถึงปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ที่รุนแรงและขยายวงกว้าง โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 19,000 ล้านบาท

กลุ่มอายุของผู้เสียหาย เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ

– กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็น 9,800 เคส มูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท โดยผู้หญิงมีสัดส่วน 61.44% ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกขายสินค้า/บริการที่ไม่เป็นขบวนการ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์

– กลุ่มอายุ 20-49 ปี มีจำนวนสูงสุด 145,302 เคส มูลค่าความเสียหาย 8,223 ล้านบาท โดยผู้หญิงเป็นเหยื่อประมาณ 64.05% ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกโอนเงินเพื่อการหารายได้พิเศษ และการหลอกลงทุนออนไลน์

– กลุ่มอายุ 50-64 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดรวมเป็น 41,901 เคส มูลค่าความเสียหายรวม 7,769 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุนออนไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุยังคงมีความเสี่ยงสูงในการถูกหลอกในลักษณะนี้

ทั้งนี้พบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่ม 20-49 ปี ซึ่งมีจำนวนเคสสูงถึง 145,302 เคส รองลงมาคือกลุ่ม 50-64 ปี โดยพบว่าคดีที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มนี้คือ คดีหลอกโอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษ และคดีหลอกลงทุนออนไลน์ ซึ่งบ่งบอกถึงความสนใจและความเชื่อมั่นในโอกาสในการหารายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มในวัยนี้ และทำให้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพ

ด้านช่องทางการหลอกลวงที่พบมากที่สุด พบว่าเป็นช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook จำนวน 26,804 เคส คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 718 ล้านบาท ตามมาด้วย Call Center มี 22,299 เคส มีมูลค่าความเสียหาย 945 ล้านบาท รวมทั้งช่องทางเว็บไซต์ (16,510 เคส, 1,148 ล้านบาท), TikTok (994 เคส, 65 ล้านบาท) และช่องทางอื่น ๆ (20,518 เคส, 1,262 ล้านบาท)

ขณะที่จังหวัดที่มีการรับแจ้งเหตุและระงับบัญชีมากที่สุด ได้แก่

  • กรุงเทพมหานคร – มีการแจ้งเหตุ 84,241 ครั้ง และระงับบัญชี 48,558 บัญชี
  • สมุทรปราการ – แจ้งเหตุ 17,853 ครั้ง และระงับบัญชี 10,968 บัญชี
  • นนทบุรี, ชลบุรี, ปทุมธานี ตามลำดับ

สถิติการแจ้งความคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567

ในภาพรวม พบว่า สถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเดือน ส.ค. และ ก.ย. 2567 ที่มีการแจ้งความคดีออนไลน์ 32,266 และ 29,579 คดี ซึ่งลดลงจากช่วง พ.ค.-ก.ค. 67 ที่มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 35,000 คดีต่อเดือน ซึ่งสามารถประเมินได้ว่าเกิดจากความร่วมมือในการขับเคลื่อนการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้น

โดยมีศูนย์ AOC เป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานหลากหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. และสมาคมธนาคารไทย เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้เกิดเป็นรูปธรรม อาทิ การเฝ้าระวังบัญชีต้องสงสัย การระงับบัญชีที่ต้องสงสัยชั่วคราว การติดตามและนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีมุ่งมั่นที่ดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพื่อลดจำนวนและผลกระทบจากขบวนการมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางออนไลน์ และการหลอกลวงในทุกรูปแบบที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.