กรมการแพทย์รณรงค์หยุดส่งต่อ "โรคเบาหวาน" แนะ 6 วิธีป้องกัน
GH News November 15, 2024 11:10 AM

วันเบาหวานโลก 14 พ.ย.กรมการแพทย์รณรงค์หยุดส่งต่อ "โรคเบาหวาน"  แนะ 6 วิธีป้องกัน

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.67 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามนโยบายนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข มีแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและแนวคิดวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและของประเทศ โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ กำหนดให้วันที่ 14 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อตอบสนองต่อความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน โดยในประเทศไทยยังคงมีผู้เป็นเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย และพบว่ามีผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน เนื่องจากไม่ตระหนักถึงอาการและความเสี่ยง ทำให้ตรวจคัดกรองล่าช้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ จึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคเบาหวาน "อย่าส่งต่อโรคเบาหวาน ขอให้โรคเบาหวานสิ้นสุดที่รุ่นเรา"

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ชื่อของโรคเบาหวานมาจากการที่ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากจนมีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า "เบาหวาน" หากเราปล่อยให้เกิดภาวะเช่นนี้ไปนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ไตวาย ตาบอด เส้นเลือดสมองตีบ (stroke) เส้นเลือดหัวใจตีบ แผลเรื้อรังหายยากจนอาจถึงขั้นต้องตัดขา ตามมาในที่สุด ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ 1. อายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป 2. ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 และสัดส่วนของรอบเอวต่อส่วนสูงมากกว่า 0.5 3. มีประวัติคนในครอบครัวญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน 4. ช่วงตั้งครรภ์มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน 5. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคความดันสูง 6. ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เป็นต้น

ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์  รพ.ราชวิถี กล่าวว่า สำหรับการป้องกันโรคเบาหวานควรปฏิบัติ ดังนี้ 1. เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัด และธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม 2. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง 3. ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน 4. ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 5. ควรตรวจสุขภาพประจำปี 6. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหากจำเป็นต้องรักษาด้วยการกินหรือฉีดยาควรกินหรือฉีดยาให้สม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ควรหยุดยาเองเพราะจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา 

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.