ญี่ปุ่นจีดีพีไตรมาสสามเติบโต 0.9% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 2.2% ในไตรมาสก่อน ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนลดลง แต่การบริโภคภาคเอกชนเติบโตเหนือความคาดหมาย ส่งสัญญาณหนุนธนาคารกลางเพิ่มดอกเบี้ย
รอยเตอร์ส (Reuters) รายงานจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2024 พบว่า ญี่ปุ่นมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสสามเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YOY) ชะลอตัวลงจากการเติบโต 2.2% ในไตรมาสก่อน โดยมีการบริโภคภาคเอกชนเติบโตเหนือความคาดหมาย แต่ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนลดลง
การเติบโตที่ชะลอตัวลง สะท้อนถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง และเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนเติบโตแข็งแรงดีเกินคาด การฟื้นตัวอย่างมั่นคงจากค่าจ้างและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ช่วยประคองอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 2% ตามเป้าหมายของรัฐบาลกลางที่ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ตัวเลขจีดีพี (GDP) ไตรมาสสามเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่ากลาง 0.7% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ชะลอตัวกว่าตัวเลขการเติบโต 2.2% ในไตรมาสสอง ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี เติบโตอยู่ที่ 0.9% สูงกว่าคาดการณ์ตลาด 0.2% อย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 0.7% ของไตรมาสก่อน
เคนโกะ ทานาฮาชิ (Kengo Tanahashi) นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ ซีเคียวริตีส์ (Nomura Securities) กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตอย่างมากถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ อย่างไรก็ตาม การบริโภคที่เพิ่มขึ้นอาจสะท้อนมาจากการฟื้นตัวในภาคยานยนต์ หลังผ่านพ้นข่าวฉาวเกี่ยวกับการปลอมแปลงผลทดสอบด้านความปลอดภัย และได้รับแรงกระตุ้นชั่วคราวจากการลดภาษีเงินได้ ที่สำคัญ ตัวเลขที่ออกมานับว่าเป็นสัญญาณดีต่อการขึ้นดอกเบี้ย
ทานาฮาชิยังกล่าวอีกด้วยว่า ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) ที่ลดลง 0.2% มีสาเหตุจากภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อการลงทุนด้านเครื่องจักรในภาคการผลิตอุปกรณ์ทำชิป
ปริมาณการส่งออกสุทธิติดลบ 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งติดลบมากกว่า 0.1 จุดเปอร์เซ็นต์ในไตรมาสสอง
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากไว้เช่นเดิมในเดือนตุลาคม และกล่าวว่าความเสี่ยงจากเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มลดลงบ้างแล้ว ซึ่งเอื้อให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้ง
คาซึทากะ มาเอดะ (Kazutaka Maeda) นักเศรษฐศาสตร์จากเมจิ ยาสึดะ รีเสิร์ช อินสติติวต์ (Meiji Yasuda Research Institute) คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวในระดับปานกลางต่อไป โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐตั้งใจจะขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าทุกประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออกที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น