ปมขัดแย้งกรณีที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ มหากาพย์ข้อพิพาทระหว่าง กรมที่ดินและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน เนื่องจากการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินรัฐ และที่เป็นประเด็นเกรียวกราวมีชื่อของบ้านใหญ่นักการเมืองดังบุรีรัมย์ อยู่ในพื้นที่ด้วยด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในสมัยนั้น
เลือกที่จะฟ้องกรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน ต่อศาลปกครองกลาง ปี 2564 ที่วงเงินค่าเสียหาย 800 ล้านบาท ฐานออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินรัฐ แทนที่จะฟ้องประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นจะรวมถึงบ้านใหญ่ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ระบุว่า กรมที่ดินละเลยการตรวจสอบเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ โดยยืนคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2560 -ปี 2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปี 2563
โดยแบ่งออกเป็น3 กลุ่มเพิกถอนเอกสารสิทธิ์คืนรฟท.แล้ว ได้แก่
1.ที่ดิน 35 ราย 40 แปลง (ส.ค.1) ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2560 ตั้งอยู่อยู่บิรเวณ ต้นกิโลเมตรที่ 5-6 ใกล้สนามช้างอารีนา ประมาณ 56 ไร่
2.ที่ดินแปลงใหญ่ 2 ราย ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2561 บริเวณกิโลเมตรที่ 8 ทางรถไฟแยกบุรีรัมย์เข้าเขากระโดง เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา
และ 3.ที่ดิน น.ส.3. จำนวน 4 แปลง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปี 2563 (ยุติคดีชาวบ้านไม่อุทธรณ์ต่อ) ตั้งอยู่กลางแผนที่ บริเวณกิโลเมตรที่ 6-7 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่
ขณะที่ดินทั้งผืน 5,083 ไร่ เอกสารสิทธิ์ จำนวน 995 ฉบับ ล่าสุด กรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอน ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง 30 มีนาคม 2566 โดยให้เห็นผลว่า รฟท.ไม่สามารถชี้แจงระวางแผนที่ได้
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิพากษาเฉพาะ แปลงที่ดินที่เป็นข้อพิพาท ไม่ได้รวมถึงแปลงอื่นทั้ง 5,083 ไร่ พออนุมานได้ว่า กรณีที่ดินที่ถูกคำสั่งศาล ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ตั้งอยู่กลางแปลงที่ดินเขากระโดงทั้งผืน ควรเป็นของรฟท. ที่กำหนดกรอบอาณาเขตแนบท้ายไว้หรือไม่
ขณะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง พิพากษาวันที่ 30 มีนาคม2566 นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ในสนัยนั้น ไม่อุทธรณ์และสั่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 สำรวจแนวเขตและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เขากระโดงคืนรฟท. 5,083 ไร่ ยอมรับคำพิพากษา และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566
ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นายอุทิน ชาญวีรกูล ปฎิบัติหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ ยื่นหนังสือลาออก นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดินคนใหม่ เดินหน้าตรวจสอบและมีคำสั่ง ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว โดยให้รฟท.เดินหน้าฟ้องเป็นรายแปลง และ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯรฟท.มีหนังสือด่วนอุทธรณ์ คำสั่งกรมที่ดินและไปไปสู่การฟ้องร้องต่อไป
เปิดไทม์ไลน์ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ “เขากระโดง”
รายงานข่าวจากรฟท. ระบุว่า สำหรับไทม์ไลน์ การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ “เขากระโดง” พบว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ให้อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดิน บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 อธิบดีกรมที่ดินได้ออกคำสั่งที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในท้องที่ ต.เสม็ด และ ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ
โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง เชิญการรถไฟฯ เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ โดยที่ประชุมให้การรถไฟฯ ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดทำแผนที่ บริเวณทางแยกเขากระโดง และให้จัดส่งข้อมูลกรอบพื้นที่ซึ่งมีค่าพิกัดรายละเอียด การดำเนินการรังวัดทำแผนที่ ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ กรมที่ดินต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการรับคำขอรังวัด การนัดรังวัด และการเรียกค่าใช้จ่ายในการรังวัดเฉพาะราย พ.ศ.2547
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 การรถไฟฯ ได้ยื่นคำขอรังวัดที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 แจ้งประมาณการค่าใช้จ่ายในการรังวัด จำนวน 112 แปลง เป็นเงินทั้งสิ้น 1,296,320 บาท และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 การรถไฟฯ ได้นำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายในการรังวัด ตามใบเสร็จรับเงินสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ เลขที่ 66-30979983 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2567
ทั้งนี้สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 แจ้งให้การรถไฟฯ จัดส่งเอกสารหลักฐานของทางราชการ ยืนยันที่ดินของการรถไฟฯตามกฎหมายพร้อมทั้งแต่งตั้งตัวแทนเจ้าหน้าที่ เพื่อนำรังวัดชี้แนวเขตที่ดิน และการรถไฟฯ มีหนังสือลงวันที่ 3 เมษายน 2567 ชี้แจงข้อเท็จจริงในการนำส่งการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เอกสารที่เกี่ยวข้อง และได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามคำพิพากษาศาลปกครอง
รฟท.-กรมที่ดิน ถกกำหนดรังวัด
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของการรถไฟฯ เข้าร่วมประชุมหารือกำหนดนัดวันรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยที่ประชุมมีมติ ให้กรมที่ดิน (สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์) กำหนดแผนงานการรังวัดการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ในเบื้องต้น ช่วงระหว่างเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2567
ขณะเดียวกันในระหว่างวันที่ 2 - 26 กรกฎาคม 2567 ผู้แทนของการรถไฟฯ และเจ้าหน้าที่กรมที่ดินพร้อมด้วยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ดำเนินการจัดทำรังวัดที่ดิน และกำหนดแนวเขตที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จนแล้วเสร็จ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อได้เริ่มรังวัดที่ดินกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 50 วัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เรื่อง การรังวัดตรวจสอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณแยกเขากระโดง ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งว่าได้ทำการรังวัดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พร้อมแนบรายละเอียดรูปแผนที่ (ร.ว.9) บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งระบุรายละเอียดแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯบริเวณแยกเขากระโดงทั้งหมด โดยเฉพาะในบริเวณเส้นขอบเขตของที่ดินของการรถไฟฯ มีการระบุถึงเลขแปลงโฉนดที่ดิน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 และ น.ส.3 ก ที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ
ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์จะส่งข้อมูลพร้อมรายละเอียดรูปแผนที่ (ร.ว.9) บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้กรมที่ดิน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสอบสวนมาตรา 61 เพื่อนำไปชี้แจงต่อศาลปกครอง พร้อมกับส่งข้อมูลการรังวัดและการลงระวางแผนที่ ซึ่งรวมถึงแบบสอบถามในใบไต่สวนผู้ที่ถือเอกสารสิทธิ์ว่ามีใครคัดค้านหรือไม่ และข้อมูลการรังวัด ส่งไปให้คณะกรรมการสอบสวนฯ มาตรา 61 พิจารณาว่าจะเพิกถอน (เอกสารสิทธิ์ที่ดิน) หรือไม่เพิกถอน
ทั้งนี้ การสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จและส่งให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้ทำการสอบสวน ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และขอขยายระยะเวลาดำเนินการได้ตามความจําเป็นแต่ไม่เกินหกสิบวัน
30 วัน รฟท.จ่อรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม
ล่าสุดทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกมาระบุว่า กรณีที่คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง พื้นที่ 5,083 ไร่ เนื่องจาก รฟท.ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.นั้น ขณะนี้เพิ่งได้รับเอกสารดังกล่าว เบื้องต้นรฟท.จะพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
อย่างไรก็ดีผู้ว่ารฟท.ยืนยันว่า ที่ผ่านมาจากหลักฐานของรฟท.เคยนำแผนที่ดินเขากระโดงส่งให้กับทางศาลยุติธรรมแล้ว ในระหว่างนั้นมีการสู้คดีถึงชั้นกฤษฎีกา ซึ่งชนะคดีมาแล้ว คาดว่ารฟท.จะใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ไม่เกิน 30 วัน
“สุริยะ” สั่งรฟท.ตรวจสอบ-รักษาสิทธิ์
ฟากเจ้ากระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญหากเป็นที่ดินของ รฟท. แม้กระทั่งตารางวาก็จะเสียไปไม่ได้ จึงให้รฟท.ไปตรวจสอบ ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือทาง รฟท. เห็นว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร เมื่ออธิบดีกรมที่ดินชี้มาแบบนี้ ทาง รฟท.เห็นว่าไม่ใช่ ก็ต้องพยายามรักษาสิทธิ์ของ รฟท.ไว้
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. รฟท.ได้ยื่นขอต่อศาลปกครองกลาง แจ้งว่าอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วน ขอให้ศาลปกครองพิจารณา หรือไต่สวนกำหนดวิธีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินของ รฟท. และให้พิจารณามีคำสั่งในประเด็นต่างๆ ต่อไป
ขณะเดียวกันผู้ว่ารฟท.ได้ทำหนังสือถึงกรมที่ดิน ยื่นคัดค้านหนังสือของอธิบดีกรมที่ดิน ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง ซึ่งในนั้นระบุว่า ต้องยื่นภายใน 15 วัน ซึ่งได้ครบกำหนดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ปัจจุบันได้ส่งไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสุริยะ ยืนยันว่า รฟท.รู้กฎหมายอยู่ จะไปหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินกว่า 900 แปลง ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ยังมีเวลาและต้องพิจารณาให้รอบคอบ
สหภาพฯ ย้ำผู้ว่าฯรฟท.ต้องสู้ถึงที่สุด
ด้านนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพรฟท. ยืนยันว่า ต้องการให้ผู้ว่าฯรฟท.เดินหน้าต่อสู้ตามกฎหมายเพื่อทวงคืนที่ดินเขากระโดงกลับคืนมา เนื่องจากเป็นสมบัติของรฟท.ที่สำคัญกรมที่ดินควรรักษาผลประโยชน์ที่ดินรัฐด้วยกันมากกว่าผู้บุกรุก