ไฟไหม้โรงงานนำเข้าและจำหน่ายสารคลอรีนส่งกลิ่นคลุ้งไปทั่ว
เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์วิทยุสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้รับแจ้งมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นที่บริษัท ในหมู่ที่ 4 ต.แคราย อ.กระทุ่มบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานนำเข้าและจัดจำหน่ายสารเคมีประเภท คลอรีน เพื่อใช้ฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำ โดยหลังได้รับแจ้งเหตุ จึงได้รีบประสานไปยังเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลแคราย นำรถดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเข้าระงับเหตุ
ทั้งนี้เมื่อไปถึงเบื้องต้นพบมีกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากอาคารชั้นเดียว บนเนื้อที่เกือบ 1 ไร่ ซึ่งใช้เป็นทั้งในส่วนของสำนักงานและพื้นที่เก็บสารคลอรีน ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้น้ำฉีดเพื่อดับไฟ แต่ปรากฏว่า สารเคมีประเภทคลอรีนที่เกิดการลุกไหม้ เมื่อถูกน้ำจึงทำให้เกิดกลุ่มควันพวยพุ่งมากยิ่งขึ้นและมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรง จึงได้ประสานขอรถดับเพลิงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีโฟม และเครื่องอัดอากาศอยู่ด้วยเข้าช่วยระงับเหตุ อาทิเช่น อบจ.สมุทรสาคร,ทต.คอกกระบือ,ทต.สวนหลวง,ทน.สมุทรสาคร,ทน.อ้อมน้อย.ทม.คลองมะเดื่อ,ทม.กระทุ่มแบน,อบต.ท่าไม้ และ อบต.บางน้ำจืด รวมกว่า 10 คัน นอกจากนี้ยังมี รถสนับสนุนจากบริษัท PSP สเปเชียลตี้ จำกัด และหน่วยงานต่างๆ,มูลนิธิร่วมกตัญญู,มูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร,เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพจากโรงพยาบาลกระทุ่มแบน และโรงพยาบาลเอกชัย คอยให้การช่วยเหลือกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ขณะที่ นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้ควบคุมบัญชาการเหตุการณ์ พร้อมด้วย นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร นายบรรพต จันทรวงษ์ นอภ.กระทุ่มแบน ร้อยตำรวจตรีสัณฐิติ ธรรมใจ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร พ.ต.ท.ชุมพล ฉัตร์สงวนชัย รอง ผกก.ป.สภ.กระทุ่มแบน นายสมบูรณ์ สุขผล นายก ทต.แคราย และ นายฐิติวัชร์. วารีรัตน์ภากร.สาธารณสุขอำเภอกระทุ่มแบน และ พ.ต.ท.โยธิน เชื้อบุญมี สารวัตรสอบสวน สภ.กระทุ่มแบน ก็ได้เข้าตรวจสอบเหตุในเบื้องต้น และได้มีการพูดคุยกับทางโรงงานฯ ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่า โรงงานแห่งนี้เป็นบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายสารเคมีคลอรีน หรือที่เรียกว่า แคลเซียมไฮโปคลอไรท์ (Calcium Hypochlorite) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ โดยเฉพาะในสระว่ายน้ำ และใช้ในการบำบัดน้ำเพื่อการฆ่าเชื้อ โรงงานแห่งนี้มีพนักงานทั้งหมดราๆ 28 คน โดยตอนเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ ตอนนั้นมีคนงานส่วนของออฟฟิตอยู่ในโรงงานประมาณ 17 คน ส่วนที่เหลือออกไปส่งของให้กับลูกค้า ซึ่งขณะที่ทุกคนกำลังทำงานอยู่นั้น ตนเห็นมีกลุ่มควันสีขาวลอยขึ้นมาจากตรงกลางของส่วนที่เป็นโกดังเก็บสารคลอรีน แล้วกลุ่มควันก็ขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว ตนจึงได้รีบให้พนักงานทั้งหมดออกมาด้านนอก แล้วประสานขอรถดับเพลิงจากเทศบาลตำบลแคราย เพียงไม่นานรถก็มาถึง
แตฝต่ปรากฎว่าไม่สามารถใช้น้ำดับเพลิงได้ เพราะยิ่งใช้น้ำจะยิ่งทำให้เกิดควันมากขึ้นและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ดังนั้นจึงต้องมีการประสานขอรถดับเพลิงที่มีโฟมจากพื้นที่อื่นเข้าช่วย แต่ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่ฯเข้ามาระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือ ส่วนปริมาณสารคลอรีนที่กักเก็บอยู่ภายในโกดังขณะเกิดเหตุมีอยู่ราวๆ 40 ถัง หรือประมาณ 800 กิโลกรัมเท่านั้น
ด้านนายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทางบริษัทฯ สารเคมีคลอรีนแห่งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัดได้และเพลิงสงบลงเป็นที่เรียบร้อย ส่วนที่คงเหลือคือกลุ่มควันภายในโรงงานที่ต้องทำให้เบาบางลง และที่สำคัญคือการเร่งสำรวจชาวบ้านโดยรอบโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากกลิ่น ซึ่งลอยฟุ้งออกไปด้านนอก ทั้งนี้ก็ได้สั่งการให้ทางด้านของนายกเทศบาลตำบลแคราย จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อหาทางดูแลและเยียวยาต่อไป รวมถึงให้นายกเทศมนตรีตำบลแคราย ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และสั่งการให้แจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนทุกหลังคาเรือน ประสาน สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลกระทุ่มแบน รพ สต ในพื้นที่สอบถามอาการดูแลประชาชนให้ครอบคลุม โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนที่มีคนบาดเจ็บ 1 รายเป็นนักผจญเพลิงบาดเจ็บจากสภาพอากาศภายในโรงงาน จึงได้มีการนำส่งโรงพยาบาลวิชัยเวช ตอนนี้ปลอดภัยอยู่ในการดูแลของคณะแพทย์พยาบาล ส่วนสาเหตุนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกับทางเจ้าหน้าที่วิทยาการ กองพิสูจน์หลักฐานเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงมูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ทางจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้มีหนังสือสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทำการสำรวจสถานประกอบการที่เข้าข่ายเป็นโรงงานสารเคมี ณ ปัจจุบันมีอยู่ในพื้นที่จำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำไปสู่การวางมาตรการป้องกันหากเกิดกรณีเช่นเดียวกันนี้.