พงศ์วรุตม์ ปังศรีวงศ์ เปิดใจ “เกษมกิจ” มุ่งลงทุนโรงแรมลักเซอรี่
SUB_NOI November 28, 2024 01:42 AM
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

กว่า 40 ปีที่ “ธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์”ทายาทของ ดร.ภก.เกษม ปังศรีวงศ์ นักธุรกิจขายยาและเวชภัณฑ์ ภายใต้บริษัท เกษมกิจ จำกัด ลงทุนบุกเบิกธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และบริการด้านอาหาร ด้วยการลงทุนเปิดโรงแรม “เคปพันวา ภูเก็ต” เป็นแห่งแรกของเครือ CAPE & KANTARY HOTELS

วันนี้ เครือเคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ มีโรงแรมในเครือรวมกว่า 20 แห่ง โดยรุ่นลูกทยอยเข้ามาช่วยบริหารงานแล้ว คือ “คุณแวว-ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล” ลูกสาวคนโต รวมถึง “คุณไผ่-พงศ์วรุตม์ ปังศรีวงศ์” ที่ได้เข้ามาช่วยกันสานต่อธุรกิจครอบครัวแล้ว

เข้ามาบริหารในปี 2019

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “พงศ์วรุตม์ ปังศรีวงศ์” เจ้าของและผู้บริหารกลุ่มบริษัทเครือเกษมกิจ (โรงแรมในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์) ถึงบทบาทหน้าที่หลังเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว รวมถึงทิศทางในการขับเคลื่อนธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตในอนาคต

พงศ์วรุตม์ ปังศรีวงศ์
พงศ์วรุตม์ ปังศรีวงศ์

“พงศ์วรุตม์” บอกว่า เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจโรงแรมแบบเต็มตัวตั้งแต่ปี 2019 โดยดูแลทุกพร็อพเพอร์ตี้ในเครือ ทำทุกอย่างที่คุณพ่อ (ธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์) ให้ทำ ทั้ง F&B (Food and Beverage Service) งาน Operation งานจัดซื้อ ฯลฯ

“ผมจบด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีความรู้เรื่องฝั่งโรงงานยาและเวชภัณฑ์ เลยเลือกช่วยงานในฟากของโรงแรม”

พร้อมบอกด้วยว่า หลังเข้ามาช่วยงานได้ปีเดียวก็เจอวิกฤตโควิด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ธุรกิจเหนื่อยมาก ๆ ได้เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย เพราะธุรกิจเวลานั้นต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อะไรขายได้ก็ขายออกไปก่อน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น เจรจากับประกันสังคม เรื่องภาษี ฯลฯ

ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์-ใช้คนเป็น

“พงศ์วรุตม์” ย้อนความว่า หลังจากที่เรียนจบระดับปริญญาตรีด้านการเมือง เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ จาก Princeton University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มต้นชีวิตทำงานในฐานะ Business Strategy Analyst ที่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ก็ทำงานเป็นพนักงานปกติ

แต่พอเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวในฐานะผู้บริหาร พออยู่ในตำแหน่งผู้บริหารมองว่ามี 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องเรียนรู้ คือ 1.ต้องมีวิสัยทัศน์ มีไอเดีย และ 2.ต้องใช้คนเป็น ซึ่งต่างจากตอนเป็นพนักงานทั่วไป

เพิ่มลงทุนโรงแรมลักเซอรี่

ต่อคำถามว่าทิศทางการบริหารในอนาคตข้างหน้าวางไว้อย่างไร “พงศ์วรุตม์” บอกว่า ส่วนตัวมีวิชั่นอยากขยายธุรกิจในตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมองว่ารายได้ที่ดีของกลุ่มธุรกิจโรงแรมนั้นมาจากส่วนของลักเซอรี่โปรดักต์ คือ ส่วนของโรงแรมขนาดเล็ก แต่มีความเป็นบูทีค และลักเซอรี่ โรงแรมแบบนี้บริหารง่าย รักษาคุณภาพได้ดี และสามารถทำราคาห้องพักได้ดีกว่า

ดังนั้น แนวทางที่เขาโฟกัสให้มากขึ้นในอนาคตข้างหน้าคือ ลงทุนในโรงแรมที่เป็นไฮเอนด์ และเป็นโรงแรมขนาดเล็กมากกว่า ส่วนโรงแรมที่เป็นแบรนด์ “แคนทารี” และ “คามิโอ” ที่มีอยู่แล้วก็ยังต้องบริหารต่อไป เพราะเป็นธุรกิจที่ได้เรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีโลว์ซีซั่น และค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก

“ผมเชื่อว่าธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ และทัวริซึ่มของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตดี เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการเติบโตทุกปี ขณะที่หลายประเทศมีปัญหาด้านการเมือง ซึ่งก็น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น”

เท 4-5 พันล้านลงทุนที่พัทยา

สำหรับแผนการลงทุนในอนาคตนั้น “พงศ์วรุตม์” บอกว่า ระยะสั้นยังเป็นการขยายการลงทุนขนาดเล็ก เช่น ลงทุนเพิ่มเติมในโครงการที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว และอาจมีโครงการใหม่แต่ยังเป็นการลงทุนโรงแรมขนาดเล็ก เช่น ลงทุน 30 ห้อง ที่เกาะสีชัง (ชลบุรี)

ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนอยู่แล้วคือ โครงการลงทุนโรงแรมแห่งใหม่ที่พัทยา (ชลบุรี) บนพื้นที่ 15 ไร่ (ติดกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล) ซึ่งตามแผนที่วางไว้นั้นในพื้นที่นี้จะมีโรงแรม 2 แห่ง เป็นแบรนด์ “เคป” ซึ่งเป็นลักเซอรี่ 1 แห่งอยู่บริเวณด้านหน้า และแบรนด์ “แคนทารี” 1 แห่ง เป็นโรงแรมใหญ่ตั้งอยู่ด้านหลัง มีบีชคลับ และศูนย์การค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

โครงการดังกล่าวนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ 4,000-5,000 ล้านบาท จึงต้องค่อย ๆ คิด ไม่รีบมาก

นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่มีพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในส่วนของบีชคลับและศูนย์การค้า ซึ่งได้เจรจากันแล้ว ตอนนี้รอเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ย้ำลงทุนเอง-บริหารเอง 100%

“พงศ์วรุตม์” ยังบอกด้วยว่า ทุกโครงการที่ลงทุนกลุ่มบริษัทจะเป็นเจ้าของเอง และบริหารเองทั้งหมด 100% อาจจะเป็นรูปแบบที่ทำให้การขยายงานช้าแต่มองว่าเป็นรูปแบบที่มีความมั่นคงสูง เพราะมีอำนาจในการบริหารจัดการทุกอย่าง

ที่สำคัญ มองว่าด้วยแบรนด์ที่มีอยู่นี้สามารถแข่งขันกับเครือบริหารอื่น ๆ ได้ เพราะเชื่อว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการประสบการณ์ใหม่ ๆ และต้องการความเป็นโลคอล ซึ่งเป็นเสน่ห์ของแบรนด์ไทย

“ผมว่านักท่องเที่ยวในวันนี้ไม่ได้ต้องการอะไรที่เหมือนกัน การบริหารโดยเชนอินเตอร์ทำให้โรงแรมในกรุงเทพฯ เหมือนกับโรงแรมที่ภูเก็ต หรือเหมือนกับโรงแรมที่นิวยอร์ก ไปที่ไหนเราก็จะเจออะไรที่เหมือนกัน แต่การบริหารด้วยแบรนด์ของตัวเองนั้นทำให้เรามีจุดขายที่ชัดเจน ซึ่งเรามองเป็นจุดแข็ง”

พร้อมอธิบายว่า เสน่ห์ของ “เคป” คือ การมีดีไซน์ มีความเป็นบูทีคที่ไม่เหมือนเชนอินเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาโรงแรมของกลุ่มเคปฯ ได้รับรางวัลระดับโลก ซึ่งล้วนมาจากความแตกต่างที่ไม่ใช้บิ๊กเนม ขณะที่ที่ตั้งก็อยู่โลเกชั่นที่ดีด้วย

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.