การเดินทางของการจัดงานมหกรรมยานยนต์ หรือมอเตอร์เอ็กซ์โป 2024 ครั้งนี้ถือเป็นขวบปีที่ 41 ต้องบอกว่าปีนี้ถือเป็นงานหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นงานที่ขับเคลื่อนยอดขาย และกลายเป็นเวทีสำคัญที่จะร่วมกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้และปีถัดไปให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์” รองประธานจัดงาน ควบคุมงานด้านการบริหารงานทั่วไป งานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 41
และในฐานะทายาทรุ่นที่สองที่จะสานต่อความสำเร็จจาก “ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์” ว่าทิศทางและการขับเคลื่อนงานในปีนี้และปีถัด ๆ ไป จะเป็นอย่างไร
Q : เป้าหมายและความคาดหวังในปีนี้
อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องทั้งจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สถาบันการเงินมีความเข้มงวดปัญหาหนี้สินครัวเรือน และปัจจัยลบอีกหลากหลายที่รุมเร้า ทำให้ยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกติดลบถึง 25% ส่วนงานมอเตอร์เอ็กซ์โป เราจัดในช่วงปลายปี ก็ยังคาดหวังว่าจะมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ปีนี้เราวางเป้าหมายไว้เทียบเท่าปีก่อน คือ มียอดเงินสะพัด 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรถยนต์ 50,000 คัน รถจักรยานยนต์ 7,000 คัน
Q : มองเห็นปัจจัยบวกอะไรบ้าง
แน่นอนว่าช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีการชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่กัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่กำลังลังเลและชั่งใจว่าจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) หรือยังใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในดีกว่ากัน อีกทั้งรอดูทิศทางการปรับลดราคาจำหน่ายของผู้ประกอบการ
ซึ่งเราในฐานะผู้จัดงานมั่นใจว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเริ่มมีความชัดเจน และตัดสินใจซื้อกันมากขึ้น
และงานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งนี้ “น่าจะได้เห็นจุดสิ้นสุดของการตัดสินใจซื้อรถคันใหม่ และน่าจะได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด หรือเบสต์ดีล กระตุ้นผู้ที่ชะลอการตัดสินใจในก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน”
Q : มีค่ายรถยนต์ใหม่ ๆ มากแค่ไหน
ปีนี้มีค่ายรถยนต์เข้าร่วมมากถึง 44 แบรนด์ ขณะที่รถจักรยานยนต์มีถึง 22 แบรนด์ รถมือสองอีก 5 แบรนด์ โดยมีค่ายรถใหม่ ๆ มาร่วมในงานมากเกือบ 10 แบรนด์ ทำให้เราต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่จัดแสดงรถยนต์ในอาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ใหม่ เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมแสดงในงานได้อย่างเพียงพอ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าชมได้มากที่สุด บนพื้นที่จัดแสดงกว่า 60,000 ตารางเมตร
Q : เวทีมอเตอร์เอ็กซ์โปคือสมรภูมิสงครามราคามั้ย
จากจำนวนค่ายรถที่เข้าร่วมงานในปีนี้ ถือว่ามีจำนวนค่อนข้างมาก และเชื่อว่าผู้ประกอบการจะขนเอาเเคมเปญเด็ด โปรโมชั่นโดน ๆ มาเพื่อพร้อมเสิร์ฟให้กับผู้ที่กำลังมองหารถยนต์คันใหม่ ทุกค่ายต้องงัดอาวุธเด็ดมาเพื่อแย่งชิงยอดขายในช่วงปลายปีอย่างแน่นอน
เราหวังงานในงานปีนี้ทุกคนที่เข้าร่วมจะได้เบสต์ดีล เป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่จะได้เลือกชมรถยนต์ที่หลากหลาย เงื่อนไขข้อเสนอต่าง ๆ ภายในที่เดียว และเชื่อว่าทุกคนจะได้รถใหม่ในราคาและเงื่อนไขที่สมเหตุสมผล
Q : ประเมินสัดส่วนรถอีวีจะมากขึ้นตามจำนวนแบรนด์หรือไม่
ปีที่ผ่านมาจากการเก็บตัวเลข ยอดจองซื้อรถชิงรถพบว่า สัดส่วนของรถอีวีอยู่ที่ 40% ส่วนเครื่องยนต์สันดาปอยู่ที่ 60% ปีนี้เรายังมองว่าสัดส่วนใกล้เคียงเดิม ขณะที่ยอดซื้อเฉลี่ยในงานอยู่ที่ระดับราคา 1.3 ล้านคัน แต่ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะวัดความต้องการทั้งประเทศไม่ได้ เพราะหลัก ๆ ยอดจองจะมาจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมากกว่า
สุดท้าย “ประชาชาติธุรกิจ” ยังได้ถามถึงเทรนด์ของงานจัดแสดงยานยนต์ไม่เฉพาะเเต่ในประเทศไทย แต่มองไกลไปทั่วโลกว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน “ชลัทชัย” สะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนว่า จากการสำรวจงานแสดงรถยนต์ใหญ่ ๆ ทั่วโลก ทั้งเจนีวา, ดีทรอยต์, ปารีส, แฟรงก์เฟิร์ต, โตเกียว และปักกิ่ง งานแสดงรถยนต์เหล่านี้หลัก ๆ จะเป็นการจัดแสดงแบบ B2B หรืองานให้ผู้ประกอบการมาเจอกัน เพื่อดูสินค้า ดูเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ สเกลงานเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่เกิดโควิด และมีการสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้น
ขณะที่การจัดงานในบ้านเราเป็นลักษณะ B2C ซึ่งเป็นการจัดแสดงรถยนต์และขายรถยนต์ด้วย วันนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานในไทยและในจีน รวมทั้งประเทศในภูมิภาคอาเซียน แถมยังมีรถยนต์รุ่นต่าง ๆ มาให้ผู้ที่จะตัดสินใจซื้อได้ทดลองขับ
ซึ่งส่วนผสมของการจัดงานแบบงานมอเตอร์เอ็กซ์โปถือว่าลงตัวแล้ว และมีผู้จัดงานแสดงรถยนต์ทั่วโลกต้องมาดูงาน และศึกษาเพื่อไปต่อยอดพัฒนาปรับรูปแบบการจัดงานในประเทศของตัวเองด้วย และนี่คือความสำเร็จอีกหนึ่งก้าว ในฐานะผู้จัดงานแสดงรถยนต์ไทย ที่ได้รับการยอมรับจากแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ทั่วโลก ตบเท้าเข้ามาร่วมงานในปีนี้กันอย่างคึกคัก