ผู้ประกอบการ 17 กลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยไทยลื้อ ไทย-ลาว ไทพวน ลาหู่ ลัวะ เมี่ยน ผู้ไท ไทญ้อ ส่วย เยอ มอญ ไทยทรงดำ ลาวเวียง มอญ ลาวครั่ง ไท–ยวน ลาวเวียง และกะเหรี่ยงโปว์ จาก 20 ชุมชนหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้งผู้รังสรรค์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทั้งผ้าทอพื้นเมือง เสื้อผ้าปัก เครื่องประดับ อาหารการกิน สินค้าทำมือ โดยสร้างจากภูมิปัญญาที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มีพลัง ร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ชาติพันธุ์ บ้านฉัน” จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันก่อน เพื่อเรียนรู้การต่อยอดทางวัฒนธรรม ปลุกไอเดียใหม่ๆ โดยคงเอกลักษณ์ชุมชน และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนดีต่อชุมชน ดีต่อโลก ช่วยขยายโอกาสทางการตลาดและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบัน เป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคใช้สินค้าหรือแบรนด์จากกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแพร่หลาย
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ นับเป็นกิจกรรมดีๆ ส่งเสริมชุมชนชาติพันธุ์รู้จักแนวทางการยกระดับสินค้า ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น สู่การพัฒนาแบรนด์ชุมชน และหาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยมิติทางวัฒนธรรม เกิดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต้นแบบ ที่พร้อมเป็นแบบอย่างต่อชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย นอกจากเวิร์คช็อปแล้ว วธ.ได้นำชุมชน ผู้ประกอบการจากกลุ่มชาติพันธุ์ ลงพื้นที่ต้นแบบ ณ ภูษาผ้าลายอย่าง ชุมชนคุณธรรมบ้านไร่มะตูม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งมีการผลิตและจำหน่าย ผ้าลายอย่าง ผ้าลายเทียมยกทอง ผ้าลายต่าง ๆ ผู้ออกแบบ รังสรรค์เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์อาทิ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หมวก ปลอกหมอน ลวดลายงดงามมีความเป็นเอกลักษณ์ หนุนยกระดับและเสริมศักยภาพให้กับชุมชนและผู้ประกอบการ
หลังจากการอบรมแล้ว รมว.ปุ๊ง-สุดาวรรณ ระบุ วธ.จะนำสินค้าที่ได้รับการต่อยอดไปทดลองจำหน่ายในการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สุงสุดแก่ผู้เข้ารับการอบรม และเพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นของผู้บริโภคมาพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง การจัดอบรมในครั้งนี้นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งทางด้านสังคมและสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจในกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วธ. มีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจวัฒนธรรม พัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ อย่างยั่งยืน ผลักดันจากรากฐาน อย่างเข้มข้น ขับเคลื่อนสู่สากลอย่างเข้มแข็ง โดยการพัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก ถือให้เศรษฐกิจวัฒนธรรม คือ กุญแจสำคัญที่พาประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“ วธ.มีโอกาสหารือความร่วมมือขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailnd : CPOT) ไปทั่วประเทศ ร่วมกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) พร้อมร่วมกันส่งเสริมให้ชุมชน ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ได้มีโอกาสเข้ามาจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น โดยการจัดหาพื้นที่ในการตั้งร้านค้า CPOT รวมถึงการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนงานศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ “ สุดาวรรณ กล่าว