ศิริราช จับมือ3องค์กร พัฒนารถรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ MSU-8 ลั่นเป็น'ต้นแบบเอเชีย แปซิฟิก'
GH News December 17, 2024 07:10 PM

17 ธ.ค.2567- ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส และ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด พัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น “MSU-8” เพื่อยกระดับการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองในขั้นตอนก่อนถึงโรงพยาบาล ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตของผู้ป่วย โดยการนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รุ่น SOMATOM On.site ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ให้ภาพสแกนสมองผู้ป่วยที่มีคุณภาพและความแม่นยำสูง มาตรฐานเดียวกับการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาล ไปติดตั้งในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับน้ำหนักและแรงกระทำกับตัวรถได้มากขึ้น รวมถึงมีระบบปรึกษาทางไกล(Teleconsultation) เสถียรภาพสูงเชื่อมต่อทีมปฏิบัติการบนรถพยาบาลและทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล นอกจากตั้งเป้าให้บริการแก่ผู้ป่วยในประเทศไทย การพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 จะช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการจัดการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอนาคต

รศ.นพ. ยงชัย นิละนนท์

รศ.นพ. ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สถิติจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวถึง 349,126 ราย มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 10 และพิการถึงร้อยละ 60 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดโอกาสการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อยู่ที่การ “ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดี” โดยมีระยะเวลาที่สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดเพียง 4 ชั่วโมงครึ่ง นับจากเริ่มมีอาการ ทำให้ในปี 2561 ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้จัดทำโครงการ Mobile Stroke Unit, Stroke One Stop (MSU-SOS) รถรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) สำหรับโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างทันท่วงที

โดยรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ประกอบด้วย รถพยาบาล เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner) และทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถสแกนศีรษะผู้ป่วยบนรถ ณ จุดนัดหมายที่กำหนด พร้อมเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) เพื่อให้ทีมแพทย์และบุคลากรที่โรงพยาบาลตัดสินใจด้านการรักษาและให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันท่วงที รวมถึงสามารถฉีดสารทึบรังสีบนรถในการประเมินหลอดเลือดสมอง ให้การวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นที่แม่นยำ พร้อมให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในลำดับถัดไปทันทีเมื่อถึงโรงพยาบาล ส่งผลให้ลดอัตราความพิการและการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้

“จากการเล็งเห็นว่า การวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่จะมีประสิทธิภาพและลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น หากมีระบบการจัดการ Workflow ที่รวดเร็ว เทคโนโลยีภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging) ที่มีคุณภาพและแม่นยำ รวมถึงยานยนต์ และระบบปรึกษาทางไกล(Teleconsultation) ที่มีเสถียรภาพ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมมือกับ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ผู้นำด้านเทคโนโลยีภาพทางการแพทย์ และ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แห่งภูมิภาค วิจัยและพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ รุ่น “MSU-8” โดยเป็นการต่อยอดงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยยกระดับการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย ให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง (A life without stroke) อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย”

รศ.ดร. พรชัย ชันยากร

รศ.ดร. พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า การสร้างระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) ให้มีเสถียรภาพ พร้อมรถพยาบาลที่มีคุณภาพและศักยภาพสูง ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความท้าทายและสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เพื่อให้การเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วย ผลการวินิจฉัย และการประเมินการรักษาล่วงหน้าระหว่างทีมปฏิบัติการบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่และทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น และรวดเร็วที่สุด

ด้าน นายคริส พอเรย์ กรรมการผู้จัดการ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส มีเป้าหมายบุกเบิกนวัตกรรมการดูแลสุขภาพเพื่อผู้คนทั่วโลก ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์กว่า 125 ปี ในการพัฒนาเทคโนโลยีภาพทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ ทั่วโลก เราเล็งเห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน จึงได้ร่วมวิจัยและพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 โดยนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scanner) รุ่น SOMATOM On.site ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแบบเคลื่อนที่ มีเทคโนโลยีขั้นสูงและล้ำสมัย ให้ภาพถ่ายสมองที่มีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้ตามมาตรฐานเดียวกับการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาล เข้าไปติดตั้งในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่นล่าสุด MSU-8 เพื่อเพิ่มความสำเร็จให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

นายคริส พอเรย์

โดย SOMATOM On.site เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แบบ 32-slice ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบเคลื่อนที่ ให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินสามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำและมุ่งเน้นการรักษาอย่างตรงจุด โดยสามารถสแกนศีรษะของผู้ป่วยในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว สร้างภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองได้ทั้งแบบไม่ใช้สารทึบรังสี (Non-contrast) และแบบใช้สารทึบรังสี (Contrast-enhanced) ที่มีความละเอียดสูง นอกจากนี้ยังลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงานหรือ Workflow ด้วย AI ทั้ง User Interface ที่ใช้งานง่าย GO Technology ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานใช้งานเครื่องอย่างมั่นใจและลดความผิดพลาด ฟีเจอร์ Recon&GO ประมวลผลภาพอัตโนมัติ เช่น การสร้างภาพ 3 มิติ การปรับความคมชัด หรือการกำหนดพารามิเตอร์เฉพาะทาง รวมถึงระบบส่งภาพไปยังระบบจัดเก็บภาพของโรงพยาบาล (PACS) แบบอัตโนมัติ ช่วยลดขั้นตอน และทำให้ภาพพร้อมสำหรับการวินิจฉัยทันที นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย ด้วยโครงสร้างแกนสแกนแบบ Telescopic Gantry สามารถสแกนผู้ป่วยบนเตียงเคลื่อนที่โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนย้าย และลดการกระจายของรังสีต่อผู้ป่วยและบุคลากรใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีแผงป้องกันรังสีเพิ่มเติมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมก่อนถึงโรงพยาบาล

“ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้มีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่อันเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความเร่งด่วนของการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายจะสามารถแบ่งปันความความรู้และทักษะ โดยศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้งานจริงและความต้องการทางคลินิก ส่วนซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบการแพทย์เคลื่อนที่ รวมถึงขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการจัดการโรคหลอดเลือดสมองในขั้นเริ่มแรกก่อนถึงโรงพยาบาลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก สอดคล้องกับพันธกิจในการสู้กับโรคที่เป็นภัยคุกคามในปัจจุบัน พร้อมส่งมอบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงการแพทย์ที่มีคุณภาพ สำหรับทุกคน และทุกที่ อย่างยั่งยืน”

นายสแตนเลย์ ชาน ไว จง

ขณะที่ นายสแตนเลย์ ชาน ไว จง ผู้จัดการทั่วไป ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด กล่าวว่า บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการยานพาหนะ การผลิตยานยนต์ และการให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี เราได้สร้างชื่อเสียงในฐานะพันธมิตรที่น่าเชื่อถือสำหรับแบรนด์ยานยนต์ ซัพพลายเออร์อุปกรณ์ และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงยังมีความสามารถในการออกแบบและผลิตรถพยาบาลแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วโลก โดยมีโรงงานสำหรับทำรถดัดแปลงในประเทศไทย ตุรกี ดูไบ แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย และโรงงานสำหรับประกอบรถยนต์ในประเทศเมียนมา กัมพูชา และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในเครืออย่าง Global Fleet Sales (GFS) ที่ให้บริการยานพาหนะในกลุ่มรถยนต์ขนาดใหญ่ อุปกรณ์หนัก และรถยนต์เพื่อการเกษตรแก่กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือและพัฒนา การป้องกันประเทศ และภาครัฐ โดยมีตัวเลือกทั้งยานพาหนะพื้นฐานหรือปรับแต่ง พร้อมทั้งบริการด้านโลจิสติกส์ บริการหลังการขาย และการจัดหาอะไหล่ และ บริษัท Ford Global Fleet Sales (FGFS) ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการขายตรงของ Ford ให้บริการโซลูชันด้านยานพาหนะที่ครอบคลุมในกว่า 100 ตลาด โดยใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Ford เพื่อให้บริการแก่บริษัทเอกชนและองค์กรด้านมนุษยธรรมทั่วโลก

รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 (2)

สำหรับการพัฒนาทางด้านการออกแบบและผลิตรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 มุ่งเน้นการออกแบบตัวรถและโครงสร้างที่สามารถรองรับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดและน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างและจุดยึดจะสามารถรอบรับแรงที่กระทำกับตัวรถได้ นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-Aided Engineering หรือ CAE) และการวิเคราะห์การออกแบบด้วยวิธี Finite Element Analysis (FEA) เพื่อจำลองแรงที่กระทำต่อตัวรถและโครงสร้างภายใต้มาตรฐานการทดสอบแรงกด (FMVSS 220) การออกแบบยังเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เช่น มาตรฐาน BS EN 1789 สำหรับรถพยาบาล รวมถึงข้อกำหนดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (EMS) และข้อกำหนดสำหรับรถพยาบาลของกรมสรรพสามิต ความร่วมมือในโครงการนี้ ทำให้ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไปอีกขั้น พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านโซลูชันทางการแพทย์ ทั้งในประเทศไทยและในระดับมาตรฐานสากล

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ และข้อมูลข่าวสารจากศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทาง https://www.sirirajstrokecenter.org/ หรือโทร +662 414 1010

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.