ได้โอกาสจังหวะเหมาะ ถึงขั้นออกมาเคาะแผนตั้งถิ่นฐานประชากรของประชาชาวยิว หรืออิสราเอล ในประเทศซีเรียกันเลยทีเดียว
สำหรับ ถ้อยแถลงแบบประกาศกร้าวอยู่ในทีของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล เมื่อวันก่อนที่ระบุว่า มีแผนการที่จะขยายที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนชาวยิวใน “ที่ราบสูงโกลัน” ในประเทศซีเรีย ที่ยึดไว้มาตั้งแต่สมัย “สงครามหกวัน” หรือ “สงครามยมคิปปูร์” มาตั้งแต่ปี 1967 (พ.ศ. 2510) แบบไม่สนเรียกร้องนานาชาติ ตลอดจนมติสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่ชี้ชัดว่า ที่ราบสูงโกลันเป็นของประเทศซีเรีย
แถมมิหนำซ้ำ ก็มิใช่แต่เฉพาะขยายที่ตั้งถิ่นฐาน สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันเท่านั้น ทว่า นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ยังเห็นชอบที่จะให้เพิ่มจำนวนประชากรชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 2 เท่าเป็นอย่างน้อย
พร้อมกับเตรียมจัดสรรงบประมาณของประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันให้ได้ตามกำหนด ด้วยเม็ดเงินงบประมาณ จำนวน 40 ล้านเชคเกล หรือ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 377 ล้านบาท)
โดยงบประมาณที่จะจัดสรรเพื่อการเพิ่มจำนวนประชากรชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันนั้น ก็เพื่อการขยายการตั้งถิ่นฐาน หรือนิคมชาวยิว บนที่ราบสูงโกลัน ให้ได้ตามแผนการข้างต้นนั่นเอง
สำหรับ ตัวเลขของประชากรชาวยิวที่พำนักอาศัยบนที่ราบสูงโกลัน ณ ปัจจุบัน ก็มีอยู่ประมาณ 31,000 คน ซึ่งตามแผนการที่นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ประกาศว่า ให้เพิ่มจำนวนประชากรชาวยิวพำนักอาศัยบนที่ราบสูงโกลันขึ้นเป็น 2 เท่า หากประสบผลสำเร็จตามแผนการที่ว่าไว้ ก็จะทำให้มีประชากรชาวยิวไปตั้งถิ่นฐานอาศัย หรือนิคมชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันรวมแล้วจำนวนไม่ต่ำกว่า 62,000 คน
อย่างไรก็ดี การตั้งนิคมชุมชนชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันดังกล่าวของอิสราเอล ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ต้องถือว่า ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ที่รุกดินแดน ล้ำอธิปไตยของซีเรีย ด้วยการเข้าไปขยายตั้งถิ่นชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันกันขึ้น ซึ่งไม่ผิดอะไรกับการปฏิบัติการ “ผนวกที่ราบสูงโกลัน” จากประเทศซีเรีย ให้มาเป็น “ดินแดนส่วนหนึ่งของอิสราเอล” ไปโดยทันที
ดูเหมือนว่า ประเด็นนี้ แม้กระทั่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในอดีตเมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก ได้ลงนามรับรองสนับสนุนอิสราเอลมีอธิปไตยเหนือดินแดนที่ราบสูงโกลันของซีเรีย เมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ที่ราบสูงโกลันแห่งนี้ ถูกผนวกไปเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอิสราเอล และอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อครั้งกระนั้นยังกล่าวด้วยว่า การที่อิสราเอลจะผนวกที่ราบสูงโกลันเข้าไปเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศส่วนใหญ่
ทว่า นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ในฐานะผู้นำอิสราเอล ก็ไม่ได้สนใจกับข้อตำหนิวิจารณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการรุกล้ำ และถึงขั้นมีแผนการขยายตั้งถิ่นฐานของประชากรกันเลยทีเดียว ซึ่งไม่ผิดอะไรกับการผนวกดินแดนแห่งนั้นไปโดยปริยายแล้ว
สาเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู มีแผนการที่จะผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลัน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลแบบเบ็ดเสร็จ จนถึงขั้นต้องมีแผนการขยายนิคมชาวยิวข้างต้นนั้น ทางนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู อ้างเหตุผลเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงที่จะมีต่ออิสราเอล นั่นเอง
โดยนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู หวั่นเกรงว่า ในขณะที่ซีเรียกำลังอยู่ในภาวะสุญญากาศทางการเมือง จากการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ถูกโค่นอำนาจไปด้วยน้ำมือของกลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ก็อาจจะเป็นช่องโหว่ให้บรรดากลุ่มกบฏอื่นๆ และกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่งทั้งหลาย ฉวยโอกาสนี้บุกจู่โจมเข้ายึดที่ราบสูงโกลัน ไปเป็นเขตอิทธิพลส่วนหนึ่งของพวกเขา ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมากๆ ต่อประชาชนชาวอิสราเอลเอง เนื่องจากที่ราบสูงโกลันดังกล่าว อยู่ใกล้ชิดติดกับพรมแดนของอิสราเอล นั่นเอง
นอกจากนี้ ที่ราบสูงโกลันดังกล่าว ยังมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทางการทหารอีกต่างหากด้วย จากการที่เป็นพื้นที่สูง มีพรมแดนติดกับหลายประเทศนอกเหนือจากอิสราเอลแล้วก็เป็นซีเรียเอง เลบานอน และจอร์แดน ดังนั้น จึงสามารถใช้เป็นที่ตั้งทางการทหาร สำหรับการปฏิบัติการตรวจการณ์บรรดาประเทศเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะกับเลบานอน และซีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มกบฏต่างๆ และกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง แนวคิดสุดโต่งงหลาย กอรปกับกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงเหล่านั้น เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ที่กำลังสู้รบระดมยิงจรวด ขีปนาวุธโจมตีระหว่างกันอยู่
มีรายงานว่า หากตั้งที่มั่นทางการทหารบนที่ราบสูงโกลันได้ ก็สามารถตรวจการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของพวกกลุ่มกบฏ และกลุ่มติดอาวุธทั้งหลาย ได้ไกลถึงในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้นานาประเทศดูจะไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับ ต่อการขยายนิคมการตั้งถิ่นชาวยิวในที่ราบสูงโลัน แต่ปรากฏว่า ได้มีชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ “ดรูซ” ซึ่งพำนักอาศัยกระจัดกระจายในพื้นที่ภาคใต้ของซีเรีย รวมถึงที่ราบสูงโกลัน ที่มีจำนวนมากกว่า 21,000 คน ก็ดูจะเห็นดีเห็นงามที่อิสราเอล มีแผนการที่จะขยายตั้งถิ่นนิคมชุมชนชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ก็เพราะชนกลุ่มน้อยชาว “ดรูซ” ข้างต้น มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของพวกเขา ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกลุ่มกบฏ กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในซีเรีย เข้ามาคุกคามเอา นั่นเอง หลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาดล่มสลายไปด้วยน้ำมือกบฏ โดยถ้าหากชุมชนชาวยิวเข้ามาตั้งนิคมถิ่นฐาน บนที่ราบสูงแห่งนี้ ทางกลุ่ม “ดรูซ” ก็หวังพึ่งใบบุญด้านการทหารจากอิสราเอลด้วย สำหรับ การดูแลความปลอดภัยของพวกเขา
ดูเหมือนว่า อิสราเอลคงจะไม่ได้หวังเพียงผนวกเฉพาะที่ราบสูงโกลันเท่านั้น แต่ทว่า ยังได้แสดงออกถึงการยึดดินแดนอื่นๆ ของซีเรีย ที่อยู่ห่างไกลออกไป แม้กระทั่งการควบคุมกรุงดามัสกัส ซึ่งมีรายงาน ทหารอิสราเอลได้มาตระเวนเพ่นพ่านถึงพื้นที่รอบๆ กรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้