5 แนวโน้มพลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าจับตาในปี 2568 เพื่อการขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน
เอลวา หวัง ผู้อำนวยการกลุ่มประจำเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางของทรินา โซลาร์ เอเชียแปซิฟิก d]jk;;jkปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่สร้างความกังวลมากที่สุดในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจนส่งผลต่อการผลิตอาหาร หรือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เกิดน้ำท่วมตามมาหลายครั้ง ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีมาตรการจูงใจ นโยบายเชิงยุทธศาสตร์ และมาตรการกำกับดูแลหลายอย่าง เช่น อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (Feed-in Tariffs) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ด้านพลังงานหมุนเวียน
ข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ประจำปี 2567 ระบุว่า พลังงานหมุนเวียนน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 51% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศภายในปี 2580 โดยเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2566 และการเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดดังกล่าวนี้น่าจะทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนสำคัญภายใต้แผน PDP ฉบับใหม่ โดยคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 33,269 เมกะวัตต์ ได้ภายในปี 2580 จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 3,193 เมกะวัตต์ ในปี 2567
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานของไทยยังมีแผนที่จะเปิดตลาดพลังงานให้กว้างขึ้นโดยอนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่สนับสนุนการเชื่อมต่อโครงข่ายผู้เป็นเจ้าของโซลาร์โฟโตวอลเทอิก (PV หรือโซลาเซลล์) ให้มากขึ้น
แม้คาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีการเติบโตมากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายประการด้วยกัน เช่น ความไม่แน่นอนในการเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้า และข้อจำกัดด้านพื้นที่สำหรับการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ตลอดจนการวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องจะมีบทบาทสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทั้งหมดของพลังงานแสงอาทิตย์
โดยในปี 2568 นั้น มีแนวโน้มด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าจับตาอยู่ 5 ประการ พร้อมด้วยเหตุผลประกอบที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้
1.แผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง: เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีต้นทุนลดลง โดยเทคโนโลยีโซลาร์ TOPCon จะยังคงเป็นตัวเลือกระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อย่างน้อยในอีกห้าปีข้างหน้า เพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการเติมช่องว่างของตลาดด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่าและให้คุณค่าแก่ลูกค้าได้มากกว่า
อีกทั้งแผง TOPCon ยังเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพลังงานที่ให้ผลตอบแทนสูงตลอดอายุการใช้งาน โดยมีค่าประสิทธิภาพรวมที่ติดกลุ่มสูงสุดที่ 25.9% และยังมีอัตราการเสื่อมสภาพในระดับต่ำด้วย นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งสองด้าน (bifacial) ทำให้ผลิตพลังงานได้มากขึ้นและให้คุณค่าแก่ลูกค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปเทคโนโลยี TOPCon โดดเด่นในเรื่องต้นทุนการผลิตต่อกิกะวัตต์ที่ต่ำที่สุดและมีต้นทุนอุปกรณ์ที่ต่ำที่สุด รวมทั้งยังมีการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น ประสิทธิภาพของเซลล์ที่เพิ่มขึ้น 1% จะได้กำลังการผลิตเพิ่มอีกมากกว่า 30 วัตต์ ที่สำคัญ TOPCon ยังส่งเสริมความยั่งยืนผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพและการลดต้นทุนด้วยการออกแบบที่ล้ำสมัย เช่น การลดความหนาที่ด้านหลังของแผงโพลี การลดการดูดกลืนแสงที่ไม่จำเป็น และเทคโนโลยีกริดแบบละเอียด
2.พลังงานแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงาน: ข้อมูลการคาดการณ์จาก BloombergNEF ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2573 ตลาดการกักเก็บพลังงานทั่วโลกจะเติบโตที่อัตราเฉลี่ย 21% ต่อปี จนแตะระดับ 137 กิกะวัตต์/442 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ภายในปี 2573 อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เช่น การเปลี่ยนจากแบตเตอรี่ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) มาเป็นแบตเตอรี่ LFP (Lithium Iron Phosphate) ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
โดยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ LFP ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าในด้านระบบจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ที่ผสานการทำงานร่วมกับ AI และแมชีนเลิร์นนิง ระบบที่ทันสมัยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ได้อย่างชัดเจนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของรอบการชาร์จและการคายประจุ และยังสามารถทำการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อนวัตกรรมเหล่านี้เริ่มคงที่ แบตเตอรี่ LFP ก็จะกลายเป็นระบบกักเก็บพลังงานที่เอื้ออำนวยแก่การนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายและให้ความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ความต้องการแบตเตอรี่ LFP ที่ถือเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของภูมิภาค ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย จีน ไทย และญี่ปุ่น โดยรายงานจาก Mordor Intelligence ระบุว่า ตลาดแบตเตอรี่ LFP ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าประมาณ 46,820 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567 และคาดว่าจะแตะระดับ 60,940 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2572 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) มากกว่า 5% ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งในตลาดอย่างเช่นประเทศไทยนั้น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ระบบสาธารณูปโภค เฮล์ทแคร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และในด้านอื่นๆ
เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้แหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถทำงานผสานกับระบบกักเก็บพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแบตเตอรี่เหล่านี้จะจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินที่ผลิตได้ในช่วงกลางวัน และปล่อยพลังงานออกมาในช่วงที่มีความต้องการสูง หรือในช่วงที่มีแสงอาทิตย์จำกัด เช่น ตอนกลางคืนหรือในวันที่มีเมฆมาก ดังนั้น การผสานรวมพลังงานแสงอาทิตย์เข้ากับระบบกักเก็บพลังงานจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
3.ระบบโซลาร์เซลล์ไฮบริด: ระบบไฮบริดกำลังกลายเป็นแนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในขณะที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าก็มีตัวเลือกมากขึ้นในการจัดการกับพลังงานหมุนเวียน นวัตกรรมทุกวันนี้ช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจพาณิชย์สามารถผสานระบบผลิตไฟฟ้าจากหลายแหล่งพลังงานไว้ได้ในระบบเดียว
โรงไฟฟ้าหรือผู้ใช้พลังงานรายใหญ่สามารถติดตั้งฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนพื้นดินควบคู่ไปกับชนิดลอยน้ำ หรือผสานโรงไฟฟ้าพลังน้ำเข้ากับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำ แล้วใช้งานร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน โดยระบบเหล่านี้สามารถเพิ่มและจัดการประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้สูงสุด ทำให้มีการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและช่วยลดต้นทุนได้
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแต่มีพื้นที่จำกัด ฟาร์มโซลาร์เซลล์ชนิดลอยน้ำจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจเพราะช่วยผลิตพลังงานสะอาดได้โดยที่ยังคงอนุรักษ์ผืนดินและลดการระเหยของน้ำ โซลาร์ฟาร์มแบบไฮบริดซึ่งผสานแผงโซลาร์เซลล์ชนิดลอยน้ำและชนิดติดตั้งบนพื้นดินเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดประสิทธิภาพและต้นทุนที่ลงตัว ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่นโครงการโซลาร์ฟาร์มแบบไฮบริดของ Cypark Resources Berhad ในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีกำลังการผลิต 31 เมกะวัตต์
4.อะกริวอลเทอิก (Agrivoltaics) หรือการใช้โซลาร์เซลล์ที่ได้ประโยชน์สองทาง หมายถึง การทำการเกษตรควบคู่กับโซลาร์ฟาร์ม เช่น การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ หรือการสร้างแหล่งที่อยู่ให้แมลงผสมเกสร เอาไว้ใต้หรือใกล้กับแผงโซลาร์เซลล์ เหตุผลที่เราพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะสังคมไทยมีรากฐานมาจากภาคการเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ โดยมีครัวเรือนที่ทำเกษตรกรรมอยู่ประมาณ 8.8 ล้านครัวเรือนจากทั้งหมด 23.57 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 37.34% ของประชากร การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเกษตรกรรมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น โครงการโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์กึ่งโปร่งแสงสำหรับเกษตรอัจฉริยะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทางตอนเหนือไทย โดยโครงการนี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักในการกักเก็บน้ำใต้ดินและการใช้พัดลมระบายอากาศในโรงเรือน ตลอดจนอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมการทำงาน
ส่วนในระดับโลกนั้น การทำการเกษตรร่วมกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น โซลาร์ฟาร์มในไร่มันฝรั่งที่ประเทศญี่ปุ่น ฟาร์มแกะที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในนิวซีแลนด์ การทำประมงควบคู่กับโซลาร์ฟาร์มในจีน รวมถึงโซลาร์ฟาร์มในเขตทะเลทรายที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน
5.การประยุกต์ใช้แผงโซลาร์เซลล์เชิงสร้างสรรค์: ปัจจุบัน เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์แบบโค้งหรือชนิดฟิล์มบาง (Thin-Film) ทำให้สามารถดัด ม้วน หรือออกแบบแผงให้มีรูปทรงโค้งได้ จึงเปิดโอกาสให้วิศวกรและศิลปินสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม แผงโซลาร์เซลล์ที่ยืดหยุ่นซึ่งทำจากวัสดุ PV หรือแผ่นฟิล์มบางนั้นมีน้ำหนักเบาและใช้งานได้หลากหลาย เช่น สามารถนำไปติดตั้งบนหลังคา ยานพาหนะ หรือแก็ดเจ็ตที่สวมใส่กับร่างกาย
แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นแนวทางที่ช่วยขยายขอบเขตจินตนาการและทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้
อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับภูมิทัศน์ด้านพลังงานทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย การเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศด้วย นวัตกรรมที่ล้ำสมัยในเทคโนโลยี PV และระบบกักเก็บพลังงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย ยั่งยืน และมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าลงทุนขยับขยายโครงสร้างพื้นฐานพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้การสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ การลงทุน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งในฐานะผู้นำรายสำคัญในภาคพลังงานหมุนเวียนระดับโลกอย่างแน่นอน
เอลวา หวัง เป็นผู้อำนวยการกลุ่มประจำเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางของทรินา โซลาร์ เอเชียแปซิฟิก โดยมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์มากว่า 10 ปี ทั้งในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มองโกเลีย และอุซเบกิสถาน