เครือซีพี ผนึกภาครัฐ - ชุมชน เดินหน้าโครงการ “ป่าปลอดเผา” ส่งมอบปุ๋ยจากใบไม้แห้งแก้ปัญหาเผาป่า มุ่งก้าวข้ามวิกฤตฝุ่น PM 2.5 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายขวัญชัย เนื่องจำนงค์ นายอำเภอเวียงแหง เป็นประธานงาน ซีพีร้อยรักษ์โลก ป่าปลอดเผา จ.เชียงใหม่ ส่งมอบปุ๋ยวัสดุปรับปรุงดินให้แก่ชุมชนอำเภอเวียงแหง จากความร่วมมือของคนในชุมชน ในโครงการป่าปลอดเผา (Zero Forest Burning) โดยมี ว่าที่พันตรี นรินทร์ ปิ่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) พร้อมด้วย นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และชุมชน ร่วมมอบให้กับ 6 ชุมชน ใน 2 ตำบล ได้แก่ ต.แสนไห และ ต.เมืองแหง ณ อุทยานแห่งชาติผาแดง ต.แสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
นายขวัญชัย เนื่องจำนงค์ นายอำเภอเวียงแหง กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากภาวะหมอกควันไฟป่า และมลพิษฝุ่น PM2.5 โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ โดยในปี 2568 ได้กำหนดมาตรการสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 3 มิติ คือ ด้านการป้องกัน , การรับมือเผชิญเหตุไฟป่าและมลพิษด้านฝุ่นละออง และการจัดการอย่างยั่งยืน การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง โดยควบคุมการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่ชุมชน เขตเมือง และลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฝ้าระวังและติดตามแจ้งเตือนคุณภาพอากาศพร้อมคำนวณแนะนำการดูแลสุขภาพเชิงรุกให้แก่ประชาชน สำหรับโครงการ "ป่าปลอดเผา” เป็นอีกหนึ่งวิธีทางเลือกในการลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าชุมชน เก็บเศษใบไม้แห้งมาเปลี่ยนให้มีมูลค่า ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยหวังว่า ชุมชนชาวเวียงแหง จะช่วยกันปกป้องผืนป่าชุมชนให้ยังคงความสมบูรณ์ต่อไป
ทางด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าท้ายสำคัญ ภายใต้แนวทางที่เรียกว่า 3D ได้แก่ Deglobalization หรือการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เกิดจากการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ Digitalization หรือการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล นำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่สำคัญ คือ Decarbonization การลดการปล่อยคาร์บอน ที่เป็นความท้าทายใหญ่ของโลก ทั้ง Carbon Neutral, Net zero รวมถึง Zero waste และเครือซีพี มีเป้าหมายบรรลุ Net Zero ภายในปี 2050 โดยมีตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน คือ SDG Goals 17 สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างแรงจูงใจหรือการให้ incentive ที่อยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่าทุกอย่างล้วนมีต้นทุน ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องป่าก็เช่นกัน ดังนั้นต้องสร้างแรงจูงใจต่อเกษตรกรหรือชาวบ้านที่อยู่กับป่าและดูแลป่าไม่ให้ถูกทำลายเเต่ยังสามารถสร้างมูลค่าจากการรักษาป่าไม่ทําให้เกิดการเผาป่าได้
โครงการ “ป่าปลอดเผา” จึงเป็นนโยบายอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น นำร่องที่ อ.เวียงแหง จาก 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสามปู บ้านมหาธาตุ บ้านปางป๋อ บ้านแม่หาด บ้านป่าไผ่ และบ้านห้วยหก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดความร้อน (Hotspot) สูง มีเป้าหมายในการสนับสนุนการลดปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ สร้างแรงจูงใจให้แก่ชุมชนและเกษตรกร สนับสนุนรับซื้อใบไม้แห้งกว่า 74,925 กิโลกรัม ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผ่านองค์ความรู้ที่เป็นทางเลือก นำใบไม้แห้งมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นวัสดุปรับปรุงดิน และส่งมอบคืนให้กับชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ประมาณ 70 ตัน โดยมีเป้าหมายช่วยลดเชื้อเพลิงธรรมชาติในพื้นที่ป่าชุมชน กว่า 7,660 ไร่ ลดการเผาใบไม้หาของป่าที่ก่อให้เกิดหมอกควันไฟป่า และเพื่อให้ชุมชนนำปุ๋ยวัสดุปรับปรุงดินไปใช้ประโยชน์ ทั้งการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม นำรายได้กลับมาบริหารจัดการกองทุนป่าชุมชนให้ยั่งยืน นำไปใช้ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรในชุมชน ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าควบคู่กับสร้างรายได้ให้ชุมชนไปพร้อมกัน