ระยะฮันนีมูนของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสนสั้น หรืออาจเรียกได้ว่าแทบไม่มีเลย เพราะขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งเดิมๆ ตั้งแต่สมัย ทักษิณ ชินวัตร บิดา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องจบด้วยการถูกรัฐประหาร
แม้บริบทแวดล้อมจะเปลี่ยนไปเพราะเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นจาก “ดีล” จนทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ กับพรรคในสายอนุรักษ์นิยม พันธมิตรของพี่น้อง 3 ป. อดีตผู้นำคณะรัฐประหาร
เพราะแม้ขั้วอนุรักษ์นิยม จะมี “ดีล” กับ นายทักษิณแต่ถ้าว่ามวลชนขั้วอนุรักษ์นิยม ที่เคยสนับสนุนกองทัพ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ร่วม “ดีล” ด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่เห็นด้วยกับ ดีลนี้
จึงเกิดความเคลื่อนไหวในการต่อต้านรัฐบาล ที่เรียกได้ว่าเป็นการรวมกลุ่มกัน หรือกฐินสามัคคี ของ มวลชนขั้ว อนุรักษ์นิยม กลุ่มเชียร์ทหาร และกลุ่มคนมีปัญหากับนายทักษิณ เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตคนเสื้อแดง ที่จับมือกับมวลชนสายเสื้อเหลือง รวมถึงอดีตผู้นำม็อบพันธมิตร อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ส่อเค้าจะเกิดความวุ่นวาย
แต่เพราะกองทัพคือเขี้ยวเล็บและอาวุธของขั้วอนุรักษ์นิยม จึงทำให้ ดีล นั้น ถอดสลับการปฏิวัติรัฐประหารไปด้วยในตัว
จึงน่าจับตามองว่าแม้ในประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารจะมีเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดคือกองทัพร่วมมือกับมวลชนในการสร้างสถานการณ์เพื่อเอื้อให้ทหารรัฐประหารยึด อำนาจมาแล้ว ก็ตาม
แต่ในเมื่อกองทัพในยุคนี้ยังคงอยู่ในดีล และยังมีกฎเหล็กในกองทัพจากการปรับโครงสร้างกองทัพ เรื่องการโอนย้ายหน่วยกำลังรบหลัก หรือขุมกำลังปฏิวัติเดิมของกองทัพบก เช่น ร.1 รอ. และ ร.11 รอ.ไปเป็นหน่วยในพระองค์
อีกทั้งทหารในกองทัพรับรู้กันดีถึง “สัญญาณ” ที่ ทหารจะไม่สามารถปฏิวัติรัฐประหารได้
ดังนั้นหากมวลชนลงถนนสร้างความวุ่นวาย แต่ทหารไม่สามารถรัฐประหาร ได้ ทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นศึกในที่เป็นผลพวงของ นายทักษิณ ที่กระทบนางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรีบุตรสาวแบบเต็มๆ
คาดว่า คีย์แมนสายอนุรักษ์นิยมที่ทำ “ดีล” กับนายทักษิณ เพียงเพื่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นกำลังหลักในการต่อสู้กับพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิม เพื่อปกป้องสถาบันฯ แต่อาจลืมคิดว่านายทักษิณ มีศัตรูเก่าจำนวนมากอีกทั้งนายทักษิณ เองก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะยังคงให้สัมภาษณ์ หรือขึ้นเวทีเรียกแขกสร้างศัตรู ตอกลิ่มรอยร้าวเดิมให้ปะทุขึ้น
ขณะที่ศึกในกำลังปะทุ ศึกนอกก็มาล้อมอยู่รอบบ้าน จากนโยบายของรัฐบาลที่จะเดินหน้าบลัฟผลประโยชน์ใต้ทะเลกับกัมพูชา จนทำให้เกิดกระแสต่อต้าน MOU 44 และปลุกกระแสชาตินิยมเรื่องเกาะกูด ที่ถูกนำไปใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการล้มรัฐบาล
จนมีการบิดเบือนบางประเด็นมาใช้ในทางการเมืองเพื่อสร้างอารมณ์ร่วม ของพี่น้องประชาชนคนไทยในเรื่องการเสียดินแดนตามสนธิสัญญา ฝรั่งเศส เกาะกูดของไทยชัดเจนแล้วก็ตาม
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็มองมุมเดียวว่าเสียงท้วงติงในเรื่อง MOU44 นั้นเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างเดียว ที่อาจจะทำให้เป็นจุดอ่อนในการเจรจากับกัมพูชาที่มีกลยุทธ์อัน แยบยล ในเรื่องดินแดน มาตลอด
นอกจากด้านกัมพูชาแล้วก็ ยังมีปัญหาด้านพม่า หลังจากกองทัพบกเจรจาให้กองกำลังว้าแดงUWSA ถอยออกไปจากดินแดนไทย ในบริเวณแนวสันแดน หลายจุดที่ ดอยหัวม้า อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
จนฝ่ายว้าแดงมีการให้ข่าวกับสื่อไทยว่าโดนกองทัพบก ยื่นคำขาดและพร้อมจะต่อสู้เพราะอ้างว่าบริเวณดังกล่าวก็เป็นพื้นที่ของตนเอง
และเป็นที่รู้กันดีว่า กองกำลังว้าแดง เป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า จึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับการที่เรือรบพม่ายิงเรือประมงไทยและจับลูกเรือที่มีคนไทย 4 คน ไปดำเนินคดีแม้ทางฝ่ายไทยจะประสานขอตัวกลับประเทศ แต่พม่าก็ยังไม่ปล่อยตัว แถมโดนโทษคดีจำคุกด้วย จนถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงท่าทีของรัฐบาลทหารเมียนมา ต่อประเทศไทยด้วยหรือไม่ และเป็นการแสดงความไม่พอใจที่กองทัพบกจะปฏิบัติการกดดันให้กองกำลังว้าแดงถอนออกไปจากพื้นที่ ที่ไทยอ้างสิทธิ์
แม้จะมี รายงานถึง การเจรจา ผู้บังคับบัญชาของทบ. กับ เมียนมา และจีน ในการกดดัน ให้ ว้าแดง ถอยออกไป ที่ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้อยากจะสู้รบกันเพราะก็อยู่ร่วมกันในพื้นที่ด้วยดีมาตลอดหลายสิบ ปี
แต่ในเมื่อเป็นประเด็นข่าวและเป็นที่สนใจของประชาชนรวมทั้งหลายประเทศกองทัพบกไทยก็ต้องเดินหน้าผลักดัน ว้าแดง ออกไปหลังจากที่ปล่อยให้อยู่มากว่า 20 ปี
ขณะที่ฝ่ายว้าแดงเอง ที่แม้ไม่ได้อยากจะสู้กับทหารไทย เพราะรู้ว่ารบไปก็แพ้ และจะสูญเสียมากกว่า เพราะโดยศักยภาพของกองทัพบกไทย ย่อมเหนือกว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อย ที่แม้จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จีน สนับสนุนมาให้จำนวนไม่น้อย ก่อนหน้านี้ก็ตาม
ว้าแดง เองก็มีศักดิ์ศรีที่ไม่อาจจะยอมถอยง่ายๆ จึงมีข้อตกลงในการที่จะยอมให้ประวิงเวลาออกไป จาก 18 ธ.ค.2567 โดยให้เวลาในการค่อยๆทยอย ขยับออกไป 3-4 เดือน เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตและรอให้กระแสข่าวความสนใจของประชาชนลดน้อยลงเสียก่อนเพราะว้าแดง ก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ไม่ให้ถูกมองว่ายอมฝ่ายไทยมากเกินไป หรือยอมง่ายๆ
จะเห็นได้ว่า ทหารไทย กับทหารว้าแดง ก็อยู่ร่วมกันในพื้นที่มานาน ฉันมิตร ทหารม้า ฉก.ไชยานุภาพ กกล.ผาเมือง และ กกล.นเรศวร ก็มีการพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับ กกล.กองทัพสหรัฐว้า UWSA เสมอๆ
ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา 2,401 กม. ยังไม่สามารถปักปันเขตแดน กันได้ เพราะ สันแดน ยังไม่มีความชัดเจน การปักปัน ทำได้เพียงแค่ บริเวณแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก เท่านั้น
โดยในห้วงปี 2530-2531 ได้มีการสำรวจและปักปันเขตแดนแบบคงที่เฉพาะบริเวณแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ในเขตจังหวัดเชียงราย ซึ่งยาวประมาณ 59 กิโลเมตร โดยสร้างหลักอ้างอิงเขตแดนไว้จำนวน 492 คู่ คู่ที่ 1 อยู่ที่สบรวก สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และคู่ที่ 492 อยู่ที่หัวเขาดอยคา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
“การใช้กำลังเป็นทางเลือกสุดท้าย ความขัดแย้ง มีอยู่ทั่วโลก ไม่จำเป็น ก็อย่าไปเพิ่มความขัดแย้งขึ้นไปอีก” พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาค 3 กล่าวถึงจุดยืน ส่วน 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ไม่ใช่วันกำหนดเส้นตาย เพียงแต่ฝ่ายตรงข้าม จะมาให้คำตอบเท่านั้น
ดังนั้น ปัญหานี้จึงจะใช้ การประวิงเวลาให้กับทางฝ่ายว้าแดง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ท่ามกลางกระแสกองเชียร์ภายในประเทศที่ต้องการให้ทหารไทยรบกับว้าแดง เพื่อแสดงศักยภาพและรักษาอธิปไตย ขณะที่บางกระแส ก็ “ด้อยค่า“ ทหารไทยว่าหากรบกับว้าแดง ที่มีศักยภาพและอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนทหารไทย จะแพ้ หรือชนะ
ที่ก็กระทบจิตใจของทหารไทย ไม่น้อย ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่น แม้ทหารไทยอยากจะรบ เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพ แต่รบไม่ได้ ในโลกปัจจุบันต้องยึดสันติวิธีมาก่อนอีกทั้งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้มีการสู้รบ ยกเว้นว่าในอนาคตการเจรจานั้นไม่เป็นผลก็อาจจะต้องมีการ ตักเตือน สั่งสอน กันบ้าง
ในเวลานี้กองทัพบกจึงแสดงกำลังให้เห็นด้วยการระดมกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ไปฝึกบริเวณชายแดน ขณะที่กองทัพอากาศ ก็นำเครื่องบินรบ บินทิ้งระเบิดแสดงศักยภาพแม้จะเป็นการฝึกตามวงรอบ แต่ก็หวังผลให้สะเทือนไปถึงชายแดนนั่นเอง
เหล่านี้เป็นปัญหาที่กองทัพแก้ไขด้วยตนเอง เพราะไม่อาจพึ่งบทบาทของ รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศได้ เนื่องด้วย “บิ๊กอ้วน” ทนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม พลเรือนก็ไม่สันทัด กับเรื่องชายแดนไทย-เมียนมา เพราะแค่ปัญหา MOU 44 ก็ยังไม่อาจหาทางออกได้ และยิ่งทำให้ศึกใน ปะทุมากขึ้นขณะที่ศึกนอก ก็ยังคงล้อมบ้าน อยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน