“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ชูธง “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” สู่ “เศรษฐกิจยุคใหม่”
GH News December 21, 2024 08:06 AM

หมายเหตุ : “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เดินหน้าประเทศไทยในมุมมองของกระทรวงอุตสาหกรรม” ในงานสัมมนาพิเศษ “Thailand next station :  เดินหน้าประเทศไทย” วาระครบรอบ 71 ปี นิตยสารสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ณ ห้องสัมมนา 301 อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567  มีสาระสำคัญดังนี้

“ถ้าถามว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปทางไหน ก่อนตอบคำถามนี้ให้มองดูถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก วันนี้เศรษฐกิจไทยและโลกเจอผลกระทบจากโควิด-19 ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ทันตั้งตัว กว่าจะได้วัคซีนก็ต้องใช้เวลานาน ถึงวันนี้ปัญหาก็ไม่หมด ผลกระทบยังมาถึงวันนี้ ยอดหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นกระทบไปทุกภาคส่วน วันนี้เราอยู่ในการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นเร็วมาก

โดยผลกระทบดังกล่าวได้กระทบอุตสาหกรรมหลักของไทย นั่นคืออุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการนำไฟฟ้ามาเป็นพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ ในวงการรถยนต์ไม่เคยเชื่อว่ารถยนต์จะใช้พลังงานไฟฟ้ามาตีตลาด ยอดรถยนต์สันดาปตก กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ อีกทั้งยังมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซียกับยูเครน สงครามอิสราเอล มีแรงกดดันปะทุความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังมีสงครามการค้าที่มาสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอีก กระทบความเชื่อมั่นการลงทุน ทุกคนไม่ซื้อของเหมือนเดิม ทำให้การค้าโลกฝืดเคือง

ขณะเดียวกันโลกยังเจอโจทย์ใหม่คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ เชียงราย น้ำท่วมในจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อากาศโลกแปรปรวนมากขึ้น ขณะนี้ภาคใต้เกิดน้ำท่วมหนักในจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้น เกิดความท้าทายใหม่ ทั่วโลกเห็นควรต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุอะไรมากขึ้นไปอีก มีเกณฑ์ใหม่ๆในการค้าขายเช่นภาษีคาร์บอน หรือภาคการเกษตร แหล่งที่มาทำลายป่าไม้หรือไม่

ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่เราต้องผ่านไปให้ได้ สิ่งแวดล้อมกระทบเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจก็กระทบสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เราต้องปรับตัวให้ทัน ถ้าทำได้แทนที่จะเป็นภาระ แต่จะเป็นแต้มต่อให้เศรษฐกิจไทย จึงจับมือภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชนเพื่อทำให้ไทยมีแต้มต่อมากกว่าถูกกดดัน

นอกจากนี้ตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งได้จับกุมการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมและการจัดการกากพิษที่ไม่ถูกต้อง นำไปสู่การรั่วไหลแพร่กระจายของสารมลพิษปนเปื้อนในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงได้สั่งการให้เร่งปฏิรูปอุตสาหกรรม ด้านการจัดการกากสารพิษ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษ เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวในการกระทำผิด ให้ผู้ลักลอบทิ้งเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน

อีกทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการทำงาน อย่าได้เกรงกลัวต่ออิทธิพล หรือผู้มีอำนาจใดๆ พร้อมกันนี้ชื่นชมภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหลและสถานการณ์ฉุกเฉิน ลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผมจะต่อสู้กับปัญหาขยะพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชน ไม่อ่อนข้อให้ผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล

ได้จับกุมผู้ทำผิดทุกวันตั้งแต่วันแรกที่มารับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ที่ทำให้ประเทศไทยตกเป็นจำเลยของโลก กระทบท่องเที่ยว วันนี้จับทุกวัน มีทีมสุดซอย แต่ยังไม่หมด ดังนั้นจะมีการออกกฎหมายใหม่ๆมากขึ้น เพื่อให้ปัญหานี้หมดไป จะทำให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเดินไปพร้อมกันให้ได้ เข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่

ทั้งนี้ตั้งแต่ตนเป็น รมว.อุตสาหกรรม ได้ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมต่อจากนี้ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องใส่ใจคือ การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

สำหรับการปฏิรูปที่ 1 การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา

การปฏิรูปที่ 2 Save อุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs บังคับใช้กฎหมายกับสินค้าต่างชาติที่ไม่ได้มาตรฐานที่ทะลักเข้าไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมต่างชาติลงทุนในไทย รวมถึงยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้

การปฏิรูปที่ 3 การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับผลิตภาพการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก ยกระดับผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมคณะผู้บริหารได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21-23 พ.ย.67 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย–ญี่ปุ่น รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ทั้งนี้ ในการเข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว ได้มีการหารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน และรถยนต์ไฮบริด โดยเฉพาะรถปิกอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัปต์จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

โดยผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกทั้งในรูปแบบของรถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด

คาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน และเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนสำคัญ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.