"ประเสริฐ"ติดตามการบริการจัดการน้ำ 4 จังหวัดภาคอีสาน รับมือปัญหาขาดแคลนน้ำให้มีน้ำใช้เพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้ง
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 13 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ณ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.67 ที่ผ่านมาโดยเป็นประธานการประชุมหารือข้อเสนอโครงการในการแก้ไขปัญหาสำคัญของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา และผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำ ณ สระเก็บน้ำวัดพระพุทธบาทเขาพริก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมาว่า จากการติดตามสภาพปัญหาและสถานการณ์น้ำภาพรวมของ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวมถึงติดตามการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนที่สำคัญในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้ง ในช่วงฤดูฝนปี 2567 ที่ผ่านมา โดยปริมาณน้ำต้นทุนที่มีในแหล่งน้ำค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา และอ่างเก็บน้ำที่ใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับผลิตประปาในเขต จ.บุรีรัมย์ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามแผนรับมือความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยขับเคลื่อนมาตรการในเชิงป้องกันล่วงหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจและคลายข้อกังวลของประชาชน ซึ่งผลการดำเนินงานค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ
นายประเสริฐ กล่าวว่า ได้กำชับและเน้นย้ำให้หน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยมอบหมายจังหวัดสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันความขัดแย้งในพื้นที่ และรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และสั่งการกรมชลประทานเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30 % โดยบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่สำคัญให้มีประสิทธิภาพ จัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้มีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้งและต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝน โดยจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก รวมถึงให้กรมชลประทานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และดำเนินการตามแผนการเพาะปลูกอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ได้มอบหมายกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือประชาชนแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และให้การประปาส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการในส่วนของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยในช่วงที่ยังมีน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ให้ดำเนินการสูบน้ำมาเก็บไว้ในแหล่งน้ำสำรองที่มีอยู่ เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้งนี้ได้
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว พบว่า ปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์ มีปริมาณน้ำรวม 153 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 76% จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำรวม 286 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 73% จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำรวม 634 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% และจังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำรวม 139 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 37% สำหรับอ่างเก็บน้ำลำตะคองซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ ของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 75 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 26% โดยมีแผนจัดสรรน้ำอ่างลำตะคอง ฤดูแล้ง ปี 2567/68 (1 พ.ย. 67 – เม.ย. 2568) รวม 73 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 35 ล้าน ลบ.ม. , น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ 25 ล้าน ลบ.ม. , น้ำเพื่อเกษตรกรรม (พืชฤดูแล้ง) 7 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 6 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีผลการจัดสรรน้ำ รวม 5.48 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 7% ของแผน ซึ่งจะมีการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สทนช. ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของจังหวัดนครราชสีมาในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 68 จำนวน 7 อำเภอ 13 ตำบล ในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อ.ปักธงชัย อ.โนนสูง อ.สีคิ้ว อ.โนนไทย อ.พระทองคำ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างเต็มที่ และจะเร่งดำเนินการตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) มอบหมาย เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ให้ได้มากที่สุด รวมทั้ง สทนช. จะติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป