มกอช. เดินสายติวเข้ม ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่ เสริมความรู้มาตรฐาน GAP พร้อมออกหน่วยบริการเคลื่อนที่รับคำขอใบอนุญาต ยกระดับสู่มาตรฐานบังคับฟาร์มไก่ไข่
วันที่ 23 ธ.ค.67 นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากสถิติของกรมปศุสัตว์ ในปี 2564-2566 พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อยู่ประมาณ 2,700,000 ราย มีจำนวนไก่มากกว่า 450 ล้านตัว ทั้งที่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคหรือเพื่อการค้า โดยมีไก่ไข่ หมุนเวียนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารของประเทศ การเลี้ยงไก่ไข่ จึงนับเป็นธุรกิจการเกษตรที่สำคัญทั้งในแง่การเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่จำเป็น และยังก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันจะมองเห็นโอกาสของธุรกิจการเลี้ยงไก่ไข่ได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีความต้องการในการบริโภคอาหารที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก นับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำของธุรกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในระดับภูมิภาค โดยการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ได้อย่างมีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทย โดยประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับกับผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่ ที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่จำนวน 100,000 ตัวขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่ ที่เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 10,000 ถึง 99,999 ตัว จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าข่ายการบังคับใช้ต้องขออนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าสินค้าตามมาตรฐานบังคับแล้วแต่กรณี กับ มกอช. โดยผ่าน “ระบบยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า และการแจ้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ” (ระบบ TAS-License) หรือขออนุญาตกับกรมปศุสัตว์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
ดังนั้น มกอช. ได้จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกเข้าสู่ระบบมาตรฐานบังคับภายใต้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มไก่ไข่ เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มไก่ไข่ (มกษ. 6909-2562) และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ รวมทั้งเปิดบริการให้คำปรึกษา และรับคำขออนุญาตเป็นผู้ผลิตตามมาตรฐานบังคับนอกสถานที่ โดยกำหนดจัดขึ้น 3 ครั้ง ซึ่งได้ดำเนินไปแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2568 ณ โรงแรมเลอแคสเซีย จังหวัดขอนแก่น
“การส่งเสริมฟาร์มไก่ไข่ให้ได้มาตรฐานจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของไข่ไก่และผลิตภัณฑ์จากไข่ไก่ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากฟาร์ม รวมทั้งป้องกันปัญหาสุขภาพไก่ไข่และการเกิดโรคระบาดที่สำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่โดยรวมของไทยได้” เลขาธิการ มกอช. กล่าว