วันที่ 19 - 20 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567” ภายใต้แนวคิด “Our Rights Our Future สิทธิของเรา อนาคตของเรา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะเชิงระบบในการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า งานสิทธิมนุษยชนมีขอบเขตที่กว้างขวางซึ่งไม่สามารถดำเนินงานให้ลุล่วงได้เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กสม. จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการขับเคลื่อนงาน จึงเป็นที่มาของการจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยการจัดงานสมัชชาฯ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายเรื่อง เช่น การขับเคลื่อนให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ การขับเคลื่อนให้มีการแยกประวัติอาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้พ้นโทษได้รับโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี หรือการผลักดันให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยเพื่อสิทธิในการสร้างครอบครัวของคนทุกเพศ โดยในปี 2567 นี้ สมัชชาสิทธิมนุษยชนจะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลในประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิผู้สูงอายุ และในปีข้างหน้า กสม. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสำหรับอนาคต ทั้งสิทธิแรงงานอิสระ สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิผู้สูงอายุซึ่งจะมีการหารือกันต่อไป ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับเราทุกคน
ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวปาฐกถาพิเศษโดยพูดถึงประสบการณ์การทำงานในการให้ความช่วยเหลือคนที่ไร้สิทธิสถานะบุคคลซึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน และโครงการตามหาคนหาย อันสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนที่ไม่สมควรถูกแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือสถานะอื่นใด
(2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การซ้อมทหารเกณฑ์และผู้ต้องหา การดำเนินคดีล่าช้าจนคดีขาดอายุความ ปัญหาการพ้นผิดลอยนวล รวมถึงการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายหรือการมีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมาย จึงมีข้อเสนอให้มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร เช่น ขับเคลื่อนให้นำแผนพัฒนาสถานีตำรวจซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสม. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไปสู่การปฏิบัติ พัฒนาแนวทางการคุ้มครองให้ผู้ต้องหาในคดีอาญามีทนายความตั้งแต่ชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนทุกขั้นตอน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการสอบสวน โดยเพิ่มขีดความสามารถและสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่พนักงานสอบสวน
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยให้จัดทำอนุบัญญัติและรวบรวมปัญหาอุปสรรคจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะการบันทึกภาพและเสียง การเก็บรักษา การแจ้งการควบคุมตัว รวมทั้งสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) โดย กสม. ได้มีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาแนวทางการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) และมาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง ให้สอดคล้องตาม OPCAT แล้ว
(3) สิทธิผู้สูงอายุ เห็นว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยพบว่ายังมีช่องว่างในการประกันสิทธิพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีสนธิสัญญาหรือมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิผู้สูงอายุ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุในทุกมิติ และป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุ (age discrimination) ประกันสิทธิเกี่ยวกับหลักประกันรายได้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพและจัดให้มีการออมภาคบังคับที่เหมาะสมสำหรับแรงงานนอกระบบและแรงงานอิสระ รวมทั้งสร้างระบบการออมระยะยาวเพื่อชีวิตหลังเกษียณงาน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานเพื่อส่งเสริมการจ้างและขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งบรรจุนโยบายเรื่องการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม อย่างมีความสุข (ageing in place) ไว้ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ และแผนงานทุกระดับ โดยระดมทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงสถานที่และบริการสาธารณะของผู้สูงอายุตามหลักอารยสถาปัตย์ ที่สะดวก ปลอดภัย และเหมาะสม