ผู้ใช้แรงงานเฮ!ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บ.กทม.-ปริมณฑลขยับ372ดีเดย์1มค.ปีหน้า
GH News December 25, 2024 09:08 AM

"ครม." รับทราบ! มติ "บอร์ดค่าจ้าง" ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด 17 กลุ่ม ในอัตรา 7-55 บาท 4 จังหวัด 1 อำเภอ ปรับขึ้นสูงสุด 400 บาท เฉลี่ยร้อยละ 2.9 ประกอบด้วย ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย ส่วน อ.เมืองเชียงใหม่ และหาดใหญ่ได้ 380 บาท ขณะที่ กทม.และปริมณฑล ปรับขึ้นเป็น 372 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 

    
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.67 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงงาน เปิดเผยว่า ได้รายงานมติที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี (บอร์ดค่าจ้าง) ที่กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ใน 4 จังหวัด เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดยมติดังกล่าวดำเนินการไปตามความเหมาะสม โดย 4 จังหวัด แบ่งเป็น จังหวัดท่องเที่ยวสูงสุด 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต และ อีก 3 จังหวัดอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำหรับการหารือเพื่อปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำในรอบถัดไป คาดว่าจะนัดหารือกันอีกครั้งใน 3 เดือนข้างหน้า
    
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 11/2567 ประชุมร่วมกับกรรมการผู้แทนภาครัฐ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายรัฐบาล ที่ตั้งเป้าประกาศในอัตรา 400 บาททั่วประเทศ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน
    
ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ เห็นชอบปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7 - 55 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.9) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีอัตราสูงสุดคือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดคือ วันละ 337 บาท ดังนี้ 
    
1.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จ.ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ในอ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 3.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5) และ 4. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัดที่เหลือให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะได้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
    
โดยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ จำนวน 3,760,697 คน สำหรับปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างฯ ได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดมาพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้

                            

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.