"ซาบีดา" เปิดงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิมหาสมุทรอินเดีย ยันประเทศไทยพัฒนาระบบกลไกการจัดการภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.67 ที่โรงแรมเขาหลัก แมริออท บีช รีสอร์ท แอด์ สปา จ.พังงา น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นประธานเปิดงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (The Commemoration of the 20th Anniversary of Indian Ocean Tsunami) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 27 ธ.ค.67 จ.พังงา โดยมีคณะทูตานุทูตต่างประเทศในประเทศไทย รองเลขาธิการอาเซียน ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ เอกอัครราชทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับจัดการภัยพิบัติ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ผู้บริหาร ปภ. และเจ้าหน้าที่ ปภ. เข้าร่วมงาน
รมช.มหาดไทย กล่าวว่า วันนี้วันที่ 26 ธ.ค.67 เป็นวันครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 ได้เกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 9.1 ที่นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้คลื่นสึนามิพัดถล่ม ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศ ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน สำหรับประเทศไทยได้เกิดผลกระทบในพื้นที่ 6 ชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกว่า 8,000 คน สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาการจัดการสาธารณภัยเชิงรุกของประเทศที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และยากต่อการคาดการณ์ จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 20 ปี ประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบและกลไกการจัดการภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศ อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 – 2573 รวมถึงนโยบายการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)
น.ส.ซาบีดา กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งในประเทศ และนอกประเทศจัดงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (The Commemoration of the 20th Anniversary of Indian Ocean Tsunami) ขึ้น ระหว่างวันที่ 26 – 27 ธ.ค. 2567 จ.พังงา อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศในการลดความเสี่ยงจากภัยสึนามิ นอกจากนี้ ยังได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติของประเทศในอนาคต ส่งผลให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน
"การจัดงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นเวทีสำคัญที่ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งและการมีภูมิคุ้มกันจากสาธารณภัย และขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมและวางกลไกการจัดการสาธารณภัยที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพและครอบคุลมทุกมิติ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการสร้างความปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก เพื่อให้ประชาชน ชุมชน และประเทศ มีคุณภาพชีวิตด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติ” รมช.มหาดไทย กล่าว
ด้านน.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ในวันแรก (26 ธ.ค. 67) ได้รับเกียรติจาก H.E. San Lwin รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน Colonel (R) Muhd Harrith Rashidi bin Haji Muhd Jamin ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย เนการาบรูไนดารุสซาลาม ประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ H.E. Sujiro Seam เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำอาเซียน Ms. Niamh Collier-Smith ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน จากนั้น ผู้ร่วมงานได้ร่วมพิธีรำลึกถึงผู้สูญเสียในโอกาสครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาวิชาการ ประกอบด้วย 5 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ 1. การสาธารณสุขและการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 2.ระบบการแจ้งเตือนภัย โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก 3.งานวิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 4.การส่งเสริมประชากรทุกกลุ่มให้มีภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติ โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และ 5.การสร้างเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ
น.ส.ชัชดาพร กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดกิจกรรมในวันที่สอง คือวันที่ 27 ธ.ค. 67 จัดขึ้นในบริเวณบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นกิจกรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในพื้นที่ การวางดอกไม้และยืนไว้อาลัย เพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ณ สวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม พร้อมเยี่ยมชม “เรื่องเล่าที่ชายฝา” จำนวน 10 จุด ณ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม เพื่อศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวและการก้าวข้ามผ่านความสูญเสียเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างชุมชนที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม