“รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์” การศึกษา คือหัวใจสำคัญขับเคลื่อนประเทศ
GH News December 28, 2024 08:05 AM

หมายเหตุ : “รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์”  ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาพิเศษ วาระครบรอบ 71 ปี นิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ในหัวข้อ “ Thailand next station เดินหน้าประเทศไทย”  มีสาระสำคัญดังนี้

“ การศึกษานับเป็นหัวใจหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนและเดินหน้าประเทศไปสู่การพัฒนาในทุกรูปแบบ ซึ่งบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาประเทศ มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะความรู้ให้กับนักศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ หากมหาวิทยาลัยสามารถเป็นที่พึ่งได้ เชื่อว่าประเทศไทยหายห่วง

ซึ่งกว่าจะถึงจุดนี้ก็ต้องบ่มเพาะตั้งแต่พื้นฐานทางด้านการศึกษาตั้งแต่ภาคบังคับไปสู่ระดับอุดมศึกษาที่บ่มเพาะจนออกไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพเราจึงต้องมาดูว่ามหาวิทยาลัยนั้น ควรมีบทบาทในการที่จะพัฒนาประเทศอย่างไร

ทั้งนี้สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นบุคลากรมหาวิทยาลัย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เรื่อง “มหาวิทยาลัยกับการสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย” ระหว่างวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,249 คน

1.ในสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องใดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศไทยควรแก้ไขมากที่สุด พบว่า 63.41% เป็นปัญหาเศรษฐกิจ 57.33% เป็นปัญหาการศึกษา 40.99% เป็นปัญหาสังคม 38.59 % เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ โอกาสของคนไทยที่มีไม่เท่ากัน และ 37.39% เป็นปัญหาการเมือง

2.มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการพัฒนาประเทศอย่างไร ผลสำรวจ พบว่า 74.46% ขอให้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตรงความต้องการของประเทศ 43.15% การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 42.03% การให้บริการวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม 37.79% การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และ 37.39% การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาการศึกษาและวิจัย

3.การวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทอย่างไรในการสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ผลสำรวจ พบว่า 63.25% ควรพัฒนานักวิจัยให้มีทักษะความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม 49.08% วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 47.40% สร้างงานวิจัยร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ 42.35% วิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและ 40.91% วิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของประเทศ

4.มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทอย่างไรในการเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมให้นักศึกษา โดยผลสำรวจ พบว่า 77.10% ควรจัดการเรียนการสอนที่เน้นลงมือปฏิบัติจริง 52.52% ควรสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาโครงงานนวัตกรรมของนักศึกษา 48.76% สร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อฝึกประสบการณ์ให้นักศึกษา 40.43% ควรจัดกิจกรรมประกวดไอเดียและพัฒนาผลงานของนักศึกษาให้ต่อยอดได้ และ 40.03% ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา

5.มหาวิทยาลัยควรมีแนวทางอย่างไรในการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ผลสำรวจพบว่า 72.38% มหาวิทยาลัยควรเน้นการจัดการเรียนการสอนที่ผสมผสานทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จริงมากกว่า 65.49% ควรปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและอุตสาหกรรม

50.76% ควรสร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน 48.44% สอนทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการปรับตัวเพื่อให้บัณฑิตพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และ 42.11% มหาวิทยาลัยควรพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต

"สุดท้ายของการสำรวจความคิดเห็นได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนประเทศไทย คำตอบที่มากที่สุด 52.80% ก็ ยังมองภาพกว้างว่าควรปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย และตอบสนอง ความต้องการของประเทศ

เห็นได้ชัดว่าประชาชนยังมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษายังล้าสมัย ถึงเวลาต้องปรับแก้ แต่อาจจะมีผู้เสียผลประโยชน์ก็ต้องติดตาม เพราะกำลังจะมีการพิจารณากฎหมายการ ศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ 48.18% รัฐบาลเพิ่มงบประมาณสนับสนุนทั้งด้านทุนการศึกษาการวิจัยและการพัฒนาศักยภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

47.93% ปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยเน้นการปฏิบัติจริงสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนสถานการณ์จริง ยกตัวอย่างการเรียนกฎหมาย หากผู้เรียนไม่เข้าใจระบบของศาลไม่เคยไปศึกษาดูงานสถานีตำรวจไม่เคยไปดูเรือนจำ ทัณฑสถาน เราจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร

29.93% ส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐเอกชนและสถาบันต่างประเทศพร้อมยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้เท่าเทียมกัน  29.68% ขยายโอกาสทางการศึกษาโดยเปิดหลักสูตรภาคค่ำสำหรับผู้ทำงานและให้คำแนะนำการเลือกสาขาแก่นักเรียนมัธยมปลาย

ที่พูดมาทั้งหมดคือทัศนะของ คนที่เกี่ยวข้อง ถ้ามหาวิทยาลัยสามารถทำได้ครบถ้วนตามที่ทำการสำรวจมากว่า 1,200 คน เชื่อว่าประเทศไทยมีความหวัง และเชื่อแน่ว่าการศึกษาคงจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ แล้ว เราก็คงไม่ต้องมาพูดเรื่องของปัญหาต่าง ๆ ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม การ เมือง ซ้ำ ๆ อยู่แบบนี้"

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.