ต้นปี 2567 เกิดคดีดัง "วัยรุ่นแก๊งตังค์ไม่ออก" ก่อเหตุรุมทำร้าย และฆาตกรรม "ป้าบัวผัน" หรือ "ป้ากบ" อายุ 47 ปี ก่อนนำร่างไปโยนทิ้งในสระน้ำ ข้างโรงเรียนศรีอรัญโญทัย ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ต่อมาตำรวจได้จับกุม "ลุงเปี๊ยก" สามีป้าบัวผัน โดยอ้างว่า ลุงเปี๊ยก ให้การรับสารภาพ จนกระทั่งนักข่าวช่อง 8 เห็นความผิดปกติ เลยไปหาหลักฐานกล้องวงจรปิด จนเห็นกลุ่มวัยรุ่น 5 คน กำลังรุมทำร้ายป้าบัวผัน จึงนำหลักฐานไปมอบให้ตำรวจ จนนำมาสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุทั้งหมด
ผู้ต้องหาคดีนี้เป็นเยาวชน 5 ราย ประกอบด้วย 1.ด.ช.กัส อายุ 13 ปี, 2.ด.ช.แบงค์ อายุ 13 ปี, 3.ด.ช.โก๊ะ อายุ 14 ปี, 4.ด.ช.เชน อายุ 14 ปี ลูกชายของรองสารวัตรสืบสวนฯ สภ.อรัญประเทศ และ 5.นายบิ๊ก อายุ 16 ปี
คดีนี้ทำให้สังคมตื่นตัวเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับเยาวชนที่กระทำความผิด และต้องการให้แก้ไขบทลงโทษเยาวชน ควรได้รับโทษแบบผู้ใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมา มีคดีอาชญากรรมที่เกิดจากเด็กหลายครั้ง
ท้ายที่สุด คดี 5 เยาวชนฆ่าบัวผัน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระแก้ว พิพากษาลงโทษผู้ปกครองเด็ก ในความผิดฐาน "บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร" สั่งปรับละ 1 หมื่นบาท สารภาพลดกึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเคสแรกของประเทศไทย ที่ผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชนที่ไปก่อคดีร้ายแรง ถูกดำเนินคดีด้วย
17 ม.ค. 2567 เวลา 15.30 น. เกิดเหตุโรงงานพลุระเบิด ในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี ที่เกิดเหตุเป็นโรงงานมีพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ตั้งอยู่กลางทุ่งนา แรงระเบิดทำให้เศษซากของตัวโรงงาน ทั้งเหล็กและหลังคา กระเด็นกระจัดกระจายเป็นวงกว้างไปไกลว่า 100 เมตร เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีคนงาน รวมทั้งนายจ้าง เสียชีวิตรวม 23 ราย
จากการตรวจสอบประวัติ พบว่า โรงงานพลุแห่งนี้ จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่เคยเกิดเหตุการณ์พลุระเบิดมาแล้ว เมื่อเดือน พ.ย. 2565 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บสาหัส 4 ราย ก่อนจะปิดการผลิตชั่วคราว และกลับมาเปิดอีกครั้ง กระทั่งมาเกิดเหตุสลดขึ้นอีก
ปลายเดือน ก.พ. 2567 เกิดประเด็นร้อน เขย่าเกาะภูเก็ต เมื่อแพทย์หญิง ธารดาว จันทร์ดำ อายุ 26 ปี แพทย์เวชศาสตร์ปฏิบัติการ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม และปกป้องตัวเอง หลังถูกนายเดวิด ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ใช้เท้าเตะหลัง ขณะนั่งเล่นอยู่บริเวณบันไดวิลล่าหรู ซึ่งทอดยาวลงไปในหาดแหลมยามู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หนำซ้ำยังถูกด่าเหยียดด้วยถ้อยคำรุนแรง ว่าเป็น local ต่อมานายเดวิด อ้างว่าเป็นการสะดุดล้ม จนเท้าไปโดนหลังหมอธารดาว และตนเองรู้สึกเสียใจ รวมทั้งขอโทษคู่กรณี
พฤติกรรมของนายเดวิด บานปลายเป็นวงกว้าง จนต้องมีการตรวจสอบหลายประเด็น เริ่มตั้งแต่บันไดวิลล่าหรู โดยพบว่าบันได และอีก 3 จุด บันไดไม้-ลานนั่งเล่นไม้-แนวกำแพงกันดิน มีการรุกล้ำที่ชายหาดสาธารณะ ต่อมาเทศบาลตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ออกคำสั่งรื้อถอน กระทั่งเอกชน ได้นำคนงาน และแบ็คโฮ มารื้อถอนออกไปเมื่อ 5 มี.ค. 2567
"เตะครั้งเดียว สะเทือนทั้งเกาะภูเก็ต" เรื่องราวไม่จบแค่รื้อบันไดวิลล่าของนายเดวิด รุกล้ำที่สาธารณะ หาดแหลมยามู คนภูเก็ตเริ่มส่งพิกัดข้อมูล ชายหาดต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งถูกเอกชนปิดกั้นทางเข้า-ออก หลายแห่ง อาทิ ชายหาดแหลมหงา หรือ "หาดน้ำใส", หาดแหลมกา, หาดนุ้ย, หาดเลพัง, หาดแหลมสิงห์ เป็นต้น จนนำมาสู่ปฏิบัติการคืนทุกหาดให้สาธารณะ
คดีนี้ผ่านไปนานกว่า 6 เดือน ล่าสุด 3 ก.ย. 2567 ศาลเเขวงภูเก็ต มีคำพิพากษา ยกฟ้องนายเดวิด และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากคลิปหลักฐานขัดเเย้งคำให้การ จำเลยนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ ชี้ การวินิจฉัย เป็นโรค PTSD บุคคลนั้นต้องเผชิญเหตุการณ์อันตรายถึงแก่ชีวิต พร้อมแจ้ง ตม. เพิกถอนคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม หมอธารดาว เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี พร้อมขอบคุณทุกกำลังใจ
เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการล่าตัวแบบข้ามปี ภายหลังนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ "เสี่ยแป้ง นาโหนด" อายุ 37 ปี นักโทษในความผิดคดีปล้นทรัพย์ ความผิดต่อเสรีภาพ พ.ร.บ.อาวุธปืน ได้หลบหนีออกจากโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช เมื่อเวลา เวลา 01.00 น. ของวันที่ 22 ต.ค. 2566
ตำรวจแกะรอยล่า "เสี่ยแป้ง" จนรู้ว่าขึ้นไปกบดานอยู่บนเทือกเขาบรรทัด รอยต่อจังหวัดตรัง พัทลุง และสตูล กระทั่ง 8 พ.ย. 2566 ชุดปฎิบัติการพิเศษแดนไทย 54 เปิดฉากดวลสนั่นบนเทือกเขาบรรทัด ก่อนเข้าเคลียร์พื้นที่ ขนำของเสี่ยแป้ง ซึ่งอยู่กลางป่าบ้านตระ พบอาวุธปืนสงคราม 3 กระบอก และกระสุนอีกกว่า 200 นัด ส่วนเสี่ยแป้ง อาศัยความชำนาญเส้นทาง หลบหนีลงจากเขาบรรทัดหลังปะทะ
ระหว่างการหลบหนี "เสี่ยแป้ง" ปล่อยคลิปวิดีโอ 3 คลิป และจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ เล่าถึงสาเหตุที่ต้องหลบหนี และพาดพิงไปถึง ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ถือเป็นการทิ้งบอมบ์ เขย่าศรัทธากระบวนการยุติธรรมไทยครั้งใหญ่
การตามล่าเสี่ยแป้ง ล่วงเลยมาถึงปี 2567 โดย วันที่ 30 พ.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้โพสต์ผ่าน X ระบุว่า "ได้รับรายงานจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่า "แป้ง นาโหนด" นักโทษหนีคดี ถูกจับกุมตัวแล้ว โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานความร่วมมือกับทางการอินโดนีเซีย"
ทั้งนี้ แม้ว่าเสี่ยแป้ง จะค่อนข้างระมัดระวังตัว ไม่ว่าจะปลอมแปลงหนังสือเดินทาง เป็นคนอาเจะฮ์ เพื่อพักอาศัยที่อินโดนีเซีย และอาศัยอยู่เฉพาะรัฐใหญ่ๆ แต่สุดท้ายกลับจนมุมเพราะเดินทางไปเที่ยวบาหลี และไปทะเลาะกับผู้หญิงอินโดนีเซีย จึงเป็นที่มาของการจับกุม
"เสี่ยแป้ง" ยังยอมรับกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่าตนเอง "จนมุมแล้ว" และยังทิ้งท้ายว่า ผมยอมรับท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเลยว่าเจ๋งจริง ตามจับกุมได้ ผมบินไปบาหลีแล้วยังตามได้อีก ไปมา 3-4 ประเทศแล้ว
อย่างไรก็ตาม "เสี่ยแป้ง" ถูกส่งตัวกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อ 4 มิ.ย. 2567 ด้วยเครื่องบินซุปเปอร์เจ็ทของประเทศอินโดนีเซีย ก่อนถูกส่งตัวไปขังเดี่ยว "คุกบางขวาง" เรือนจำความมั่นคงสูง ส่วนเสี่ยแป้ง จะได้รับโทษในคดีที่ก่ออย่างไรบ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป
วันที่ 11 มิ.ย. 2567 เวลาประมาณ 04.30 น. เกิดเหตุไฟไหม้ภายในตลาดศรีสมรัตน์ ศูนย์รวมสัตว์เลี้ยง-ปลาสวยงาม ถนนกำแพงเพชร 3 แขวงและเขตจตุจักร กทม. เจ้าหน้าที่ระดมฉีดน้ำนานกว่า 1 ชั่วโมง จึงควบคุมเพลิงไว้ได้ พบเพลิงเผาวอดเสียหายทั้งหมด 118 ห้อง พื้นที่ประมาณ 900 กว่าตารางเมตร
ด้าน กรุงเทพมหานคร สรุปความเสียหายเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ มีสัตว์เสียชีวิต 13 ชนิด รวม 5,343 ตัว และร้านค้าได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ กว่า 51 ร้านค้า
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ หนีไม่พ้นดราม่าการขังสัตว์ และทรมานสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย เปิดใจว่า พวกตนขายมาเป็นสิบๆ ปี ไม่มีทางไม่รักสัตว์ ดูแลดียิ่งกว่าตัวเองอีก และเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นยากมาก เรื่องที่เกิดขึ้นทุกคนน่าสงสาร ทั้งผู้ประกอบการและสัตว์เลี้ยง
ขณะเดียวกัน โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพสุดสะเทือนใจ "งูกัดตัวเอง" โดยผู้เชี่ยวชาญบอกว่า พฤติกรรมเช่นนี้ สาเหตุน่าจะมาจากภาวะของงูที่อยู่ในช่วงโคม่าแล้ว และกัดตัวเองโดยไม่ตั้งใจ ภาวะนี้งูจะไม่รับรู้อะไรแล้ว และจะนอนดิ้นไปมา ปากจะอ้าอยู่ตลอด หากไปโดนอะไร มันก็จะงับทันที ไม่ว่าคน สิ่งของ หรือกระทั่งตัวมันเอง
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่แชร์ต่อบนโลกออนไลน์ ระบุว่า งูกัดตัวเอง เป็นเพราะพฤติกรรมที่ต้องการจะเอาชีวิตรอดเช่นเดียวกับสัตว์หลายชนิด โดยท่อหายใจของงูอยู่ในปาก เมื่อควันครอกงูในปริมาณมาก มันจึงต้องงับเข้าที่ตัวเองเพื่อปิดช่องทางการหายใจ และม้วนตัวเองไว้เพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายไฟไหม้ เช่นเดียวกับคนที่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ก็อาจจะใช้มือบีบจมูก หรือใช้หัวไหล่เป็นตัวช่วยในการป้องกันไม่ให้สูดดมควันเข้าไปได้ แต่งูไม่มีทั้งมือและไหล่ จึงต้อง กัดตัวเอง เพื่อปิดช่องทางการหายใจ
อีกเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คงหนีไม่พ้น มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล (อดีต ผบ.ตร.) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566 ชุด PCT 4 นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค. (ตำแหน่งในขณะนั้น) สนธิกำลังตำรวจไซเบอร์ และชุดปฏิบัติการพิเศษคอมมานโด เปิดปฏิบัติการ "บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ กวาดบ้านตำรวจ" ตรวจค้นกว่า 30 จุดใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ มีการออกหมายจับ และจับกุมลูกน้องคนใกล้ชิดของบิ๊กโจ๊ก หลายราย
นอกจากนี้ยังมีการขยายผล จับกุมเว็บพนัน "BNK Master" มีที่ตั้งศูนย์ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งมี พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ ลูกน้องบิ๊กโจ๊ก ตกเป็นผู้ต้องหา และเดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 จนกระทั่งพบว่าเส้นเงินเชื่อมโยงกับตำรวจ 4 นาย และพลเรือน 1 คน
12 มี.ค. 2567 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.น. หอบหลักฐานเดินทางที่ศาลอาญา รัชดา เพื่อออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อทั้งหมด แต่สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้เพียง 4 ราย ส่วน "บิ๊กโจ๊ก" ศาลมองว่าเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จึงให้พนักงานสอบสวนไปออกหมายเรียกแทน
ประเด็นนี้ "บิ๊กโจ๊ก" มอบหมายทีมทนายความ แถลงโต้กลับทันควัน ยืนยันตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด และย้ำว่า ไม่มีเส้นเงินไหนของตนเอง ที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันใดๆ เงินต่างๆ เป็นเงินของตนเองโดยแท้ ไม่ได้มาจากเว็บพนันออนไลน์
18 มี.ค. 2567 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกอย่างว่าไปตามพยานหลักฐาน ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง
19 มี.ค. 2567 ทีมทนายความบิ๊กโจ๊ก ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เปิดข้อมูลเส้นทางการเงินของเว็บพนันออนไลน์ BNK Master เชื่อมโยงกับ 34 บัญชีซึ่งรวมไปถึงนายตำรวจระดับสูง บุคคลในครอบครัว ทั้งภรรยา พี่สาว และคนใกล้ชิด แต่มีความพยายามเชื่อมโยงเส้นทางการเงินของผู้ต้องหาคดีเว็บพนันออนไลน์ให้มาถึงตัวบิ๊กโจ๊ก ทั้งที่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แต่ไม่มีการดำเนินการใด
20 มี.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) มีคําสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร (ในขณะนั้น) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) ไปช่วยราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี คำสั่งย้ายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเคลียร์ปมขัดแย้ง กอดเอวกันชื่นมื่น
18 เม.ย. 2567 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.(ในขณะนั้น) เซ็นคำสั่งให้บิ๊กโจ๊ก และลูกน้องอีก 4 คน ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน กรณีมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ ชื่อ BNK master จนถูกดำเนินคดีอาญาและถูกศาลอาญาออกหมายจับ
19 มิ.ย. 2567 มีการเปิดเผยเอกสารคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้บิ๊กต่อ กลับไปปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในตำแหน่งเดิม จนเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2567
16 ธ.ค. 2567 ศาลปกครองสูงสุด ยกคำขอทุเลาการไล่ออก "บิ๊กโจ๊ก" ชี้ ไม่เข้าเงื่อนไขคุ้มครองชั่วคราว ระบุ เป็นอำนาจ ผบ.ตร. ออกคำสั่งโดยชอบหลังมีพฤติการณ์ผิดวินัยร้ายเเรงถูกออกหมายจับ
วันเดียวกัน (16 ธ.ค. 2567) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก เรียกรับเงินหรือทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และธุรกิจผิดกฎหมายอื่น จำนวน 18 ประเภท เนื่องจากเห็นว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพียงพอ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังพิจารณากรณีกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. กับพวก เรียกรับผลประโยชน์จากเว็บพนันออนไลน์ สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน และรับทรัพย์สินเกินกว่า 3,000 บาท
1 ต.ค. 2567 เกิดเหตุโศฏนาฏกรรม ไฟไหม้รถบัสนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ระหว่างกำลังพาเด็กนักเรียน มุ่งหน้าไปทัศนศึกษา ที่สำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ย่านบางกรวย จ.นนทบุรี แต่เมื่อมาถึงบริเวณใกล้เคียงกับอนุสรณ์สถาน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้เสียหลักไปชนรถเบนซ์ แล้วครูดกับแบริเออร์ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 900 เมตร ก่อนที่เพลิงจะลุกไหม้บัสทั้งคัน ทำให้ครู 3 ราย และนักเรียนชั้น ป.1 - ม.3 เสียชีวิต รวม 23 ราย หลังเกิดเหตุคนขับรถบัสหลบหนีไป แต่สุดท้ายถูกตำรวจกดดัน จนยอมมอบตัวที่ จ.อ่างทอง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบสภาพรถ พบว่าสาเหตุเกิดจากเพลาหัก และก๊าซรั่ว นอกจากนี้ยังพบอีกว่า รถบัสคันดังกล่าวมีถังแก๊สเชื้อเพลิง จำนวน 11 ถัง แต่จดทะเบียนอย่างถูกต้องแค่ 6 ถัง จนนำมาสู่การขยายผลตรวจรถบัสทุกคนในบริษัทฯ ดังกล่าว แต่กลับมีการสับขาหลอก ไม่ยอมนำรถไปตรวจสภาพ แต่เอาจอดซุกอู่ที่ จ.นครราชสีมา ขนส่งฯ ตามไปเจอขณะกำลังถอดถังแก๊สออก ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมปกปิดความผิด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำรถบัส มาตรวจสภาพ ก็เจอว่าประตูทางออกฉุกเฉิน ไม่สามารถเปิดได้
25 พ.ย. 2567 มีการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดเทพสรธรรมาราม 23 รูป มาทำบุญใหญ่อุทิศส่วนกุศล ให้ครูและนักเรียน 23 ราย ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวพ่อแม่ผู้ปกครอง ยังอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ และได้นำธูปที่จุดไปปักบริเวณสถานที่เก็บรักษารถบัสคันเกิดเหตุ
อีก 1 คดีใหญ่ สะเทือนสังคมไทย คือการจับกุม บอสพอล นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง ดิไอคอน กรุ๊ป บอสกันต์ บอสแซม บอสมิน และบอสคนอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 18 คน หลังมีผู้เสียหาย รวมตัวแจ้งความเอาผิด ในข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ"
คดีนี้ถือว่ามีผู้เสียหายมากเป็นประวัติศาสต์ กว่า 1 หมื่นคน มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 3,213 ล้านบาทเศษ จึงถูกโอนจากสอบสวนกลาง ไปอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ขณะเดียวกัน ปปง. ได้ยึดอายัดทรัพย์สิน รวมกว่า 320 ล้านบาท
ฝั่งบอสพอล ตั้งป้อมเคลื่อนไหวจากเรือนจำ ผ่านทนายความให้เซอร์ไพรส์อยู่เรื่อยๆ แถมฝากวลีเด็ด "จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" จากนั้นเริ่มเช็กบิลนักร้องเรียนหญิง "เจ๊พัช กฤษอนงค์" ซึ่งถูกออกหมายจับ และจับกุมในข้อหากรรโชกทรัพย์และเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน "ดิไอคอน" ส่วน"ฟิล์ม รัฐภูมิ" เจอหมายเรียก ข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์
ด้าน ตำรวจกองปราบ ขอหมายจับและจับกุม นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ปมนำพยานเท็จมาให้การด้วย
ขณะเดียวกัน ดีเอสไอ จับกุมนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช พร้อมกับแม่ ข้อหาสมคบและร่วมกันฟอกเงิน "คดีดิไอคอน" แต่ฝั่งทนายบอสพอล ได้ชี้แจงเส้นเงิน 2.5 ล้านบาท ที่โอนเข้าบัญชีแม่นายสามารถ ว่าเป็นเงินทำบุญ รวมทั้งขึ้นเบิกความเป็นพยานไต่สวนคำร้องปล่อยชั่วคราว ชี้ให้ศาลเห็นว่าคดีของดิไอคอนกรุ๊ป ยังไม่มีการพิพากษาว่าเป็นความผิด ฉะนั้นเงินที่โอนจากบอสพอล ไปยังนายสามารถ จึงยังไม่ใช่การฟอกเงินจากการกระทำผิด แต่ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว เฉพาะแม่ของนายสามารถเท่านั้น
ปัจจุบันผู้ต้องหาคดีดิไอคอน ทั้ง 18 ราย ยังไม่ได้รับการประกันตัว แต่ฝั่งตัวแทนจำหน่ายเริ่มทยอยยื่นเรื่องต่ออัยการขอถอนแจ้งความ ซึ่งต้องจับตาดูว่า ในปี 2568 คดีนี้จะคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ใครจะไปคาดคิดว่า "ทนายตั้ม" หรือ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความที่สร้างชื่อเสียง จากการว่าความคดีดังต่างๆ มากมาย จะมีจุดจบเข้าไปอยู่ในเรือนจำ หลังถูก น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ "เจ๊อ้อย" เศรษฐินี แจ้งความเอาผิดฐานฉ้อโกงเงิน กรณีหลอกให้ลงทุนซื้อแพลตฟอร์ม "หวยออนไลน์" ก่อนฮุบเงิน 71 ล้านบาท ซึ่งตอนแรกทนายตั้ม ให้สัมภาษณ์หนักแน่น ว่าเป็นการให้โดยเสน่หา
กระทั่ง 7 พ.ย. 2567 ทนายตั้ม ถูกออกหมายจับในข้อหา ฉ้อโกง, ฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิด ฐานฟอกเงิน ส่วนภรรยา ถูกออกหมายจับฐาน ร่วมกันฟอกเงิน โดยทั้งคู่ถูกจับกุมได้ บริเวณแยกไฟแดงพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ขณะที่กำลังขับรถมุ่งหน้า จ.สระแก้ว ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่า กำลังจะไปปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้ทนายตั้ม ยังตกเป็นผู้ต้องหา ร่วมกับนายนุ และ น.ส.สารินี ปั้นพยานหลักฐานเท็จแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องถูกดูดเงินจากบัญชีบิทคอยน์ เพื่อฉ้อโกงเงินเจ๊อ้อย อีก 39 ล้าน จนมีการขยายผลออกหมายจับ น.ส.ปิณฑิรา หรือดาว พี่สาวภรรยา ของทนายตั้ม หลังพบหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฉ้อโกงเงินจำนวนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทนายตั้ม และภรรยา ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ระหว่างรอพิจารณาคดีในชั้นศาล
อาชญากรรมส่งท้ายปี คงหนีไม่พ้น คดี "สจ.โต้ง" นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ ถูกยิงเสียชีวิต คาบ้านพักของ น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ ขณะเข้าไปพูดคุยเคลียร์ปัญหา กับนายสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ.ปราจีนบุรี หรือ "โกทร" ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรม แต่เกิดมีปากเสียงอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ทีมอารักขาของโกทร ยิง สจ.โต้ง เสียชีวิตคาบันไดบ้าน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567
หลังเกิดเหตุตำรวจคุมตัว โกทร และทีมบอดี้การ์ด รวม 7 คน ไปสอบสวน ที่ สภ.เมืองปราจีนบุรี ก่อนแจ้งข้อหา "ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต" ทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ
ส่วนประเด็นขัดแย้งต้องสั่งตาย "สจ.โต้ง" คาดว่าเป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากเจ้าตัวต้องการส่ง "สจ.จอย" นางณภาภัช อัญชสาณิชมน ลงสมัครรับเลือกตั้ง ชิงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี (นายก อบจ.ปราจีนบุรี) แต่ฝั่งโกทร ก็มีคนที่ตนเองต้องการสนับสนุนอยู่แล้ว สอดคล้องกับหลักฐานคลิปเสียงสนทนาของทั้งคู่ ที่มีการโต้คารมกันเดือด จน สจ.โต้ง หลุดพูดว่าต้องมีการตายเกิดขึ้น
23 ธ.ค. 2567 สจ.จอย ปรากฏตัวลงสมัครชิงเก้าอี้ นายก อบจ.ปราจีนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทย และมี นายอำไพ กองมณี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลงสมัครในนามอิสระ, นางกฤษณ์กมล แพงศรี อดีตผู้สมัคร สส.ปราจีนบุรี พรรคเพื่อไทยปี 2566 ลงสมัครในนามอิสระ และ นายจำรูญ สวยดี ลงสมัครในนามพรรคประชาชน ขณะที่บ้านใหญ่ "วิลาวัลย์" ยังเงียบ