ทำสำเร็จ! NASA ส่งยานอวกาศ บินสำรวจใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในประวัติศาสตร์
วันที่ 28 ธันวาคม เว็บไซต์ NASA ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ยานสำรวจ Parker Solar Probe ของนาซา ทำลายสถิติเดิม ด้วยการบินเหนือพื้นผิวดวงอาทิตย์ถึง 3.8 ล้านไมล์ (ราว 6 ล้านกิโลเมตร) โดยยานดังกล่าว พุ่งทะยานสู่ชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ ด้วยความเร็วสูงถึง 430,000 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 692,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง นับว่าเร็วกว่าวัตถุเคลื่อนที่อื่นๆ ที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา โดยช่วงดึกของวันที่ 26 ธันวาคม ได้รับการยืนยันว่า ยานสำรวจปลอดภัยดีขณะปฏิบัติหน้าที่ และทำงานได้อย่างปกติ
สำหรับยานอวกาศ Parker Solar Probe ถูกเปิดตัวในปี 2561 ซึ่งได้เคยบินผ่านดาวศุกร์ถึง 7 ครั้ง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วง เพื่อนำยานเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น แต่เมื่อเข้าใกล้เรื่อยๆ ทางยานต้องใช้โล่คาร์บอนเพื่อป้องกันความร้อนอันแผดเผา จากบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า โคโรนา ซึ่งอาจมีความร้อนสูงถึง 1 ล้านองศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งโล่นี้ถูกออกแบบให้กันความร้อนได้เพียง 2,600 องศาฟาเรนไฮต์/1426 องศาเซลเซียส
ด้านจอห์น เวิร์ซเบอร์เกอร์ วิศวกรระบบของ APL กล่าวว่า การที่ยานอวกาศสามารถเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้ขนาดนี้ นับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ถือเป็นความท้าทายสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ที่ต้องเผชิญหน้า มาตั้งแต่ปี 2501 และได้ใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
ยานอวกาศโคจรเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ในปี 2021 ซึ่งพบว่า ขอบด้านนอกของโคโรนาเต็มไปด้วยรอยย่นที่มาพร้อมกับหนามแหลมคม และร่องลึก ทำให้ขัดแย้งกับสิ่งที่คาดไว้ หากนับตั้งแต่การโคจรเข้าสู่ดวงอาทิตย์ในครั้งแรก มันก็ส่งผลให้ยานอวกาศใช้เวลาอยู่ในชั้นโคโรนามากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นาซามีแผนจะส่งยานอวกาศโคจรผ่านดวงอาทิตย์แบบใกล้ชิดครั้งต่อไป ในวันที่ 22 มีนาคม 2568 และวันที่ 19 มิถุนายน 2568