สนค. เผยอุตฯเฟอร์นิเจอร์ มองเป็นโอกาสผลักดัน “จ้างงาน-สร้างรายได้”
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ หลากหลาย และก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ดังนั้น การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ จึงสามารถส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในไตรมาสแรกของปี 2024 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ
ปี 2023 ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อดัชนีฯ ได้แก่ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ มีสัดส่วนการผลิตสูงสุดถึงร้อยละ 75.68 รองลงมาเป็นการผลิตเฟอร์นิเจอร์โลหะ และการผลิตฐานรองที่นอนและที่นอน
โดยในปี 2023 อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ มีจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 12,117 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) จำนวน 9,204 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.96 และมีการจ้างงานทั้งหมด 106,556 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานในธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดย่อม (S) คิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 61.57 ซึ่งการจ้างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ จำนวน 46,727 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.85 ของจำนวนการจ้างงานในภาคการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหลัก และเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ รายย่อยและขนาดย่อมที่เป็นกลุ่มฐานรากในระบบเศรษฐกิจที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
ผอ.สนค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด โดยในปี 2023 ไทยมีมูลค่าส่งออก 1,617.51
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกหลัก 3 ประเทศแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตรา
การเติบโตเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2021-2023) พบว่า มีตลาดน่าสนใจที่มีแนวโน้มการเติบโตไปในทิศทางบวก อาทิ มาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 16.91 แคนาดา ขยายตัวร้อยละ 12.86 และไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 9.94 และหากพิจารณาแนวโน้มการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ภาพรวมในตลาดโลก พบว่า ในปี 2023 มีมูลค่า 239,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยประเทศที่มีการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีล่าสุด
(ปี 2021-2023) พบว่า ตลาดที่น่าสนใจและมีการนำเข้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ สาธารณรัฐเช็ก ร้อยละ 3.85 และ อิตาลี ร้อยละ 0.25
ผอ. สนค. กล่าวเสริมว่า ความนิยมเฟอร์นิเจอร์มีการปรับเปลี่ยนจากปัจจัยต่าง ๆ ตามบริบทของโลก อาทิ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น โดยทิศทางแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์ 3 ประการ ได้แก่ (1) ความกลมกลืนและเชื่อมโยงกับธรรมชาติ (2) การผสานเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตได้อย่างราบรื่น ผสานฟังก์ชันต่าง ๆ ที่พร้อมตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ และ (3) การใช้งานได้หลากหลาย (Multitasking) สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้ใช้งานได้ นอกจากนี้ มาตรฐานเฟอร์นิเจอร์ ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึง เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้ผู้ผลิตและส่งออกดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของประเทศปลายทาง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคได้มากขึ้น ทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัย และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
ในโอกาสนี้ สนค. จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการค้าของไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) สนับสนุนการเผยแพร่งานวิจัยและพัฒนาการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในการพัฒนาวัสดุที่ใช้เพื่อลดปริมาณขยะและสร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนากระบวนการผลิตที่สร้างมลพิษน้อยที่สุด เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกประเทศกำลังให้ความสำคัญ
(2) เร่งผลักดันการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งตลาดใหม่นอกเหนือจากประเทศคู่ค้าหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ต่อเนื่อง และตลาดคู่ค้าเดิมที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกจากไทยสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย เนื่องจากเป็นตลาดศักยภาพที่ไทยมีความคุ้นเคย จึงอาจขยายความสัมพันธ์ทางการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเฟอร์นิเจอร์ได้มากขึ้น
(3) ศึกษาและเผยแพร่แนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถตอบสนองต่อการใช้งานของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มได้มากขึ้น อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เพื่อช่วยกระตุ้นแนวคิดผู้ประกอบการให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการใหม่ ๆ ของตลาดได้ดียิ่งขึ้น
(4) ส่งเสริมการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างสรรค์และมีกลิ่นอายเอกลักษณ์ความเป็นไทย อาทิ การใช้ลายผ้าไทยเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดเฟอร์นิเจอร์และยังเป็นการสนับสนุนนโยบาย Soft Power ของไทยอีกทางด้วย
(5) ติดตามและเผยแพร่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับข้อจำกัดทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้ทันท่วงที
(6) ผลักดันผู้ประกอบการให้เร่งศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในกรอบต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสจากความตกลงเขตการค้าเสรีและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก
(7) นำเทคโนโลยีการผลิตของประเทศผู้ส่งออกชั้นนำของโลกมาเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย เช่น การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตของประเทศจีน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำนวัตกรรมดังกล่าวมาปรับใช้กับกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของไทยต่อไป
(8) มุ่งพัฒนาสินค้าต้นน้ำ-กลางน้ำที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หลักในโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อาทิ ไม้ โลหะ ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน โดยอาจมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้ากลางน้ำเป็นสำคัญ เนื่องจากมีมูลค่าสูงกว่าสินค้าต้นน้ำ
(9) สร้างการรับรู้มาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมผลักดันให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น Demark Award ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม และตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T Mark) ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและบริการของไทย ทั้งนี้ เพื่อสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้กับเฟอร์นิเจอร์ไทยมากขึ้น