ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว รับเงินสงเคราะห์บุตร 1,000 บาทต่อเดือน มีผล 1 ม.ค. 68 เปิดเงื่อนไข
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม เเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2567 รับเพิ่มจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน มีผลทันทีตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 นี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ผู้ประกันตน
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนที่ 83 ก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 เผยแพร่กฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2567 ลงนามโดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่2) พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 4 ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรให้เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตราหนึ่งพันบาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน”
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุ หมายเหตุในท้ายประกาศถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ว่าโดยที่เป็นการสมควรเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรในอัตราที่สูงขึ้น อันเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนและเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ หลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ฉบับที่ พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเป็นเงินจากเดิม 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เป็น 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน โดยให้มีผลใช้บังคับสำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรและเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ประกันตน รวมถึงสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตรยังอยู่ภายในกรอบไม่เกินอัตราเงินสมทบของรัฐบาลที่จัดเก็บ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุน