ที่มา | รายงานการศึกษา |
---|---|
ผู้เขียน | ทีมข่าวการศึกษา |
ถือเป็นปีที่ประเทศไทยมีอุบัติเหตุทางการเมืองครั้งสำคัญ หลัง นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรงกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นจากตำแหน่งยกชุดในวันที่ 14 สิงหาคม 2567
ถัดจากนั้นเพียง 2 วัน 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ก่อนเดินหน้าฟอร์มทีม ‘ครม.อิ๊งค์ 1’ ในส่วนของรัฐมนตรีด้านการศึกษา ‘ไม่พลิกโผ’ ยังคงเป็น โควต้าของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นั่งคุมตำแหน่งเดิมต่อเนื่อง โดย ‘บิ๊กอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ‘ครูเอ’ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล จากบ้านใหญ่อยุธยา รั้งเก้าอี้เสมา 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และ ‘รมต.ผึ้ง’ ศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เช่นเดิม…
ดังนั้น การทำงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จึงเป็นเรื่องการสานงานเก่า ซึ่งหลายเรื่องเริ่มมีความเป็นรูปธรรม แต่อีกหลายเรื่องก็ยังคงต้องลุ้นว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด …!!!
หนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญที่พูดมาตลอดทั้งปี 2567 คือ ‘เรียนดี มีความสุข’ เชื่อมโยงทั้งนโยบาย ศธ.และ อว. โดยในส่วนของ ศธ. ‘บิ๊กอุ้ม’ พยายามผลักดัน หลายเรื่องเห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งการลดภาระครู นักเรียน เริ่มต้นปีโดยการเสนอ ครม.ยกเลิกการอยู่เวรของครู ในเดือนมกราคม 2567 ป้องกัน รักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู จัดสรรงบประมาณจ้างภารโรงเพิ่ม เพื่อให้ครูทำหน้าที่สอนเป็นหลัก การนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในระบบการศึกษา ทั้งการเรียนการสอน เชื่อมโยงกับนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ซึ่งแม้จะยังไม่เห็นความชัดเจนเนื่องจากข้อจำกัดทางงบประมาณ
ส่งผลให้ต้องปรับการดำเนินการ ทั้งเรื่องการจัดทำคอนเทนต์เพื่อนำไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ซึ่งเดิมจะจัดทำให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เมื่อถูกตัดงบจึงต้องเริ่มนำร่อง จัดทำคอนเทนต์เฉพาะชั้น ม.ปลาย เช่นเดียวกับการจัดหาอุปกรณ์ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ล่าสุด ศธ.ขอกำหนดคุณสมบัติ หรือสเปก จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อฟันธงว่าควรจะเป็นโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต
ในส่วนของ ศธ.เสนอว่า ต้องมีระบบสัมผัสหน้าจอ สามารถใส่ซิมการ์ด เชื่อมต่อแป้นพิมพ์ได้ ขณะเดียวกันได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ Cloud Service หรือบริการคลาวด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์แบบเครือข่ายออนไลน์ ตั้งแต่การให้บริการการจัดเก็บข้อมูล, บริการซอฟต์แวร์และแหล่งทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านอินเตอร์เน็ตให้กับดีอี เพื่อพิจารณาประกอบการจัดซื้อด้วย นำร่องชั้น ม.4 และจะเรียกคืนเมื่อเด็กจบชั้น ม.6 เพื่อนำกลับมาซ่อมแซมและส่งต่อให้นักเรียนกลุ่มใหม่ จัดซื้อในรูปแบบสัญญาเช่า 5 ปี พร้อมบริการซ่อมแซมครบวงจร และเมื่อครบสัญญาก็จะมีการเปลี่ยนเครื่องและจัดทำสัญญากันใหม่ต่อไป
เรื่องนี้คงต้องจับตาความชัดเจนกันต่อเนื่องในปี 2568…
ขณะเดียวกันยังมีการนำ ‘เทคโนโลยี’ มาใช้ในการจัดระเบียบต่างๆ ที่เคยยุ่งเหยิง ไม่มีระบบระเบียบ และเคยเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ ที่เห็นกันชัดๆ คือการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว9/2564) นำเทคโนโลยีมาช่วยลดระยะเวลาในการประเมินให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเอกสาร ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยกว่า 20,000 บาทต่อคน ที่สำคัญเป็นระบบที่มีความโปร่งใส ลดปัญหาทุจริต กดปุ่มย้ายครูคืนถิ่นด้วยระบบ TMS หรือ Teacher Matching System ตามด้วยระบบการย้ายครูภาพรวม TRS หรือ Teacher Rotation System ซึ่งนอกจากจะมีความรวดเร็ว ตรวจสอบได้ ลดการเรียกรับผลประโยชน์แล้ว ยังช่วยลดภาระงานธุรการ โดยผู้ขอย้ายสามารถลงทะเบียนและติดตามการดำเนินงานได้ผ่านระบบดิจิทัล ระบบ TRS ยังช่วยให้หน่วยงานด้านการศึกษาบริหารจัดการบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมในระบบกลางที่สามารถวิเคราะห์และนำไปปรับใช้ได้ทันที…
อีกเรื่องสำคัญ คือการแก้ปัญหา เด็กหลุดออกจากระบบ ซึ่งปีนี้ ถูกหยิบยกเป็นปัญหาระดับชาติ หลังนักวิชาการออกมาเปิดเผยตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์ ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 1,025,514 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กไทย 767,304 คน และเด็กต่างชาติ 258,210 คน รัฐบาลประกาศนโยบาย Thailand Zero Dropout ตั้งเป้าดร็อปเอาต์เป็นศูนย์ โดยมอบหมายให้ ศธ.เป็นแม่งานหลักในการติดตามเด็กเข้าเรียน ซึ่งแต่ละองค์กรที่มีนักเรียน เร่งค้นหาและนำเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง…
ตามมาด้วยปัญหาโลกแตก อย่างการแก้ปัญหา ‘หนี้สินครู’ ซึ่งงานนี้ต้องขอยกเครดิตให้เสมา 2 อย่างนายสุรศักดิ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. ที่ผลักดันหลายๆ เรื่อง แม้วันนี้ยอดหนี้ในภาพรวมจะยังไม่ลดลง อยู่ที่ตัวเลขเดิม คือกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ก็เรียกว่าได้เห็นแนวทางและความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 แห่งทั่วประเทศ จับมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 40 แห่ง ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 4.75 จัดอบรมการบริหารจัดการเงิน
แต่เรื่องนี้คงไม่มีใครสามารถช่วยแก้ไขได้ นอกจากตัว ‘ครู’ เอง ที่ต้องมีวินัยทางการเงิน ไม่ใช่กู้จนล้นเกินตัว แล้วมาเรียกร้อง รอความช่วยเหลือ…!!
ข้ามฟากมาทางด้าน ‘อุดมศึกษา’ ซึ่งปีนี้อาจดูไม่ปังปุริเย่เท่าที่ควร โดยไตรมาสแรกของปี 2567 ‘รมต.ผึ้ง-ศุภมาส’ วางแนวทาง ขับเคลื่อนแผนงาน โดยแบ่งเป็น 3 ด้านคือ ด้านอุดมศึกษา, ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม และการแก้ปัญหาประเทศด้วยนวัตกรรม แต่เท่าที่ดูผลงานจะเน้นจัดอีเวนต์ใหญ่ เหมือนจุดพลุ แต่ไม่เห็นความต่อเนื่อง ทั้งการนำงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนาประเทศ หรือกระทั่งการพัฒนามหาวิทยาลัย…
ทั้งนี้ แม้ผลงานจะมีน้อย แต่ก็ยังพอมีให้เห็น อย่างเช่นการผลักดันร่างกฎหมายจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา’ รวม 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. …, ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
โดยสาระสำคัญอยู่ที่การจัดตั้ง’กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา’ที่จะถูกนำมาใช้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ เรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นค่าสมัครสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ TGAT และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสมัครคัดเลือกในระบบ TCAS 68 รอบ 3 หรือรอบแอดมิชชั่น ฟรี 7 อันดับ หรือกระทั่งปัญหาช้อปปิ้งงานวิจัยที่มีอย่างต่อเนื่อง ก็กลับเงียบหาย ทั้งที่ควรมีระบบป้องกันและลงโทษอาจารย์ที่ทำผิดจรรยาบรรณอย่างจริงจัง…
ยังไม่รวมถึง ‘ข้อพิพาท’ กรณีการย้ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ออกจากพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เหมือนการ ‘ตีปี๊บ’ ตั้งโต๊ะแถลงแผนการย้ายที่ดูเหมือนจะมีความชัดเจน ทั้งเรื่องบประมาณและพื้นที่รองรับ แต่สุดท้ายก็กลับเงียบหายเข้ากลีบเมฆเหมือนเช่นเคย…
สอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการ โดย นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ตัดเกรดผลงาน อว.ปี 2567 ให้คะแนน อยู่ที่ 5.5 เต็ม 10 ถือว่าสอบผ่าน โดยรอบปีที่ผ่านมาการทำงานของ อว.เต็มไปด้วยความมีสีสัน มีการจัดกิจกรรมมากมาย แต่ไม่ได้ลงลึกถึงปัญหา เพื่อทำให้เกิดคุณภาพชีวิตบุคลากรในมหาวิทยาลัยต่างๆ ดีขึ้น เช่น การขึ้นเงินเดือนที่ถกเถียงกันมานาน ที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทำให้หลายคนรู้สึกว่า อว.ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้
“ส่วนตัวมองว่า อว.ยังไม่ได้จริงจังมากพอในหลายเรื่อง เช่น การนำงานวิจัยไปใช้พัฒนาประเทศ ที่ตอนนี้การวิจัยเป็นลักษณะเกิดประโยชน์กับตัวผู้วิจัย แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและส่วนรวม ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ ที่ไม่ได้ถูกนำมาพูดคุย ส่งผลให้ทิศทางของมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณ มหาวิทยาลัยรัฐบาลขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ที่มีแตกต่างกัน 20-30 เท่า ทำให้เกิดความ เหลื่อมล้ำ” นายสมพงษ์กล่าว
ส่วนการทำงานของ ศธ. นายสมพงษ์ ให้คะแนนอยู่ที่ 6 เต็ม 10 เนื่องจากเห็นการเปลี่ยนแปลงและมีแนวคิดที่สำคัญหลายเรื่อง คือ ท่าทีการทำงานของผู้บริหาร ศธ.ที่สามารถแก้สถานการณ์ได้ทันท่วงที ช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก ถือว่าสามารถใช้การเมืองมาสยบปัญหาทางการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น การปฏิวัติการศึกษา เรียนดีมีความสุข การลดภาระครูและนักเรียน การแก้ปัญหาเด็กนอกระบบตามนโยบาย Thailand Zero Dropout เป็นต้น
“ปัญหาการศึกษามีหลายเรื่องที่หมักหมมมานานกว่า 20 ปี และถูกกดทับไว้ไม่มีการพูดถึงในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ ซึ่งพอหมดช่วงเวลา คสช.จนมาถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการขับเคลื่อนจนมีความหวังมากขึ้น การศึกษาของไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามนโยบายที่ได้มอบไว้กับรัฐสภาและตามแนวทางของ ศธ. ดังนั้น สำหรับผม ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ ศธ.ในยุคนี้นั้นมีหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกครูเวร สุขาดีมีความสุข การลดหนี้สินครู ฉะนั้น ในปี 2568 คาดว่าจะได้เห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้เข้าสู่รัฐสภา ได้เห็นหลักสูตรใหม่ และได้เห็นเรื่องของการนำเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับมาเรียนมากขึ้น” นายสมพงษ์กล่าว
ขณะที่ นายอดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการทางการศึกษา มองคล้ายกันว่า ผลงานของ ศธ.ปี 2567 ที่เห็นเป็นรูปธรรมนั้นมีหลายเรื่อง แต่ยังเป็นเรื่องที่เป็นงานทั่วไป ไม่ได้ทำให้เกิดการปฏิวัติการศึกษา โดยให้คะแนนผลงานตลอดทั้งปีอยู่ที่ 6.5 เต็ม 10 ส่วน อว.ให้คะแนน 5 เต็ม 10 เนื่องจากการดูแลอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์นวัตกรรมยังไม่มีความชัดเจน อยากให้ผู้บริหาร อว.กลับมาดูแลบุคลากรในอุดมศึกษาให้มากขึ้น เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างแท้จริง
“คิดว่าผู้บริหาร อว.ยังหาจุดเปลี่ยนเพื่อจะพลิกโฉมและวางกลไกเชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้ แม้ที่ผ่านมามีความพยายามในการจะปฏิรูปอุดมศึกษา แต่กลับไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องการพัฒนากำลังคน มองแต่การขับเคลื่อนนโยบายที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการจัดนิทรรศการต่างๆ ที่มีจำนวนมากในปี 2567” นายอดิศรกล่าว
แม้ผลงาน ‘ศธ.-อว.’ปี 2567 อาจจะยังไม่โดนใจเท่าที่ควร ถูกตัดเกรดผ่านแบบคาบเส้น แต่คงต้องให้กำลังใจ ‘ทีม รมต.ภูมิใจไทย’ กันต่อเนื่อง และรอดูว่าปี 2568 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้หรือไม่…