การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568
โดย 29 จังหวัดจะเลือกตั้งเพียงสมาชิก อบจ. เนื่องจากได้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ล่วงหน้าไปแล้ว จากการที่นายก อบจ.ได้ลาออกก่อนครบวาระ ส่วนอีก 47 จังหวัดที่เหลือเลือกตั้งทั้งนายก อบจ. และสมาชิก อบจ.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อวันที่ 23-27 ธ.ค.2567 สรุปยอดผู้สมัครนายก อบจ. 192 คน สมาชิก อบจ. 6,816 คน รวม 7,008 คน
ผู้สมัครนายก อบจ.มากสุด 5 อันดับแรก คือ สงขลา 9 คน, ศรีสะเกษ นครพนม 8 คน, อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู สุราษฎร์ธานี สระบุรี สมุทรสงคราม และมหาสารคาม 6 คน, จันทบุรี ตราด นครนายก น่าน บุรีรัมย์ พัทลุง มุกดาหาร ลพบุรี สกลนคร 5 คน, นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา พิจิตร ลำปาง สตูล สมุทรปราการ สุพรรณบุรี 4 คน
ผู้สมัครสมาชิก อบจ. มากสุด 5 อันดับแรก คือ ศรีสะเกษ 289 คน นครพนม 248 คน สกลนคร 198 คน สงขลา 186 คน และบุรีรัมย์ 182 คน
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เผยไทม์ไลน์ว่า วันที่ 6 ม.ค. เป็นวันสุดท้ายของการยื่นคำร้องต่อ กกต. ในกรณีที่ไม่รับสมัคร ตามมาตรา 55 พร้อมเป็นวันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ เลือกตั้ง
วันที่ 8 ม.ค. ทางกกต.จัดกิจกรรม Kick Off การเลือกตั้ง อบจ. “สร้างสรรค์ประเทศ พร้อมใจไปเลือกตั้ง” เวลา 09.00-13.00 น. ที่ห้องออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
วันที่ 17 ม.ค. เป็นวันสุดท้ายของการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง
วันที่ 21 ม.ค. เป็นวันสุดท้ายของการที่จะเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง หรือที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายที่ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจะแจ้งการเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ
วันที่ 25-31 ม.ค. เป็นการแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นกรอบภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจริง ซึ่งผู้ที่ไม่รู้ตัวว่าไม่อาจไปใช้สิทธิ เลือกตั้งได้ในวันที่ 1 ก.พ. สามารถแจ้งเหตุไม่ได้ไปใช้สิทธิได้ที่แอปพลิเคชั่น SMART VOTE ได้เลย
วันที่ 31 ม.ค. ยังเป็นวันส่งมอบวัสดุอุปกรณ์เลือกตั้งให้แต่ละหน่วยเพื่อจัดเตรียมการจัดเลือกตั้ง อบจ.
วันที่ 1 ก.พ. เปิดให้เลือกตั้งเวลา 08.00-17.00 น.
วันที่ 2-8 ก.พ. ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิสามารถ แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิได้ 7 วันหลังวันเลือกตั้ง
วันที่ 3 มี.ค. เป็นวันสุดท้ายประกาศผลการเลือกตั้ง
นายแสวงระบุว่า นับตั้งแต่นายก อบจ. ครบวาระวันที่ 19 ธ.ค.2567 ทางสำนักงาน กกต. อบจ. และฝ่ายปกครองที่สนับสนุนการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามแผนและคิดว่าไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ จนถึงวันที่ 1 ก.พ.นี้
ส่วนช่วงเวลาหาเสียงผู้สมัครสามารถดำเนินการได้ ตั้งแต่มีประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหน อาทิ รถแห่ การจัดเวที รวมทั้งโซเชี่ยลมีเดีย สามารถทำได้หมด
สิ่งที่ กกต.อยากเห็นและอยากทำคือ ประการแรกการอำนวยความสะดวกประชาชนและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหน่วยเลือกตั้งหรือการประชาสัมพันธ์
ประการที่สอง การมีส่วนร่วม อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ เพราะแสดงถึงความชอบธรรม เป็นรากฐานที่ดีในการพัฒนาการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นหรือประเทศ
ประการที่สาม อยากเห็นการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้สมัคร ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ละเมิดกฎระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ทุกการแข่งขันมีคนหวังชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นคนหวังชนะอาจทำเกินเลยกว่ากฎหมายกำหนด อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เป็นหน้าที่หลักของสำนักงาน กกต.จะดูแลตรงนี้
มาตรการคือต้องดำเนินการให้การหาเสียงเป็นไปตามกฎหมาย จะมีมาตรการป้องกัน ป้องปราม รวมทั้งปราบปรามการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เช่น การซื้อสิทธิขายเสียง การจัดเตรียม หรือสัญญาว่าจะให้ การใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการใช้อำนาจโดยมิชอบไปข่มขู่ประชาชน รวมทั้งการพูดหาเสียงใส่ร้ายหลอกลวง เพื่อจูงใจให้ไปลงคะแนนเลือกตั้ง หรือไม่ให้เลือกผู้อื่น
นอกจากนี้เรายังมีชุดหาข่าวและชุดป้องปรามเข้าไปประจำพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดคอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อยต่างๆ
กกต.อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยสอดส่องดูแลการเลือกตั้งเช่นกัน โดยมีเงินรางวัลให้กับผู้แจ้งเบาะแสและแจ้งข้อมูลว่ามีเหตุว่าจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เงินรางวัลไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท และไม่เกิน 1 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมเรื่องร้องเรียนไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับใด จำนวนและสัดส่วนจะน้อยลง เนื่องจากแนวทางการหาเสียงของผู้สมัครจะเน้นการเสนอนโยบายมากกว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย สมัยอดีตคือการซื้อเสียงหรือการให้ทรัพย์สิน แต่การเลือกตั้งช่วงหลังจะเป็นการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาเลือกว่าผู้สมัครรายใดมีนโยบายดูแลท้องถิ่นนั้นๆ ได้ดีมากกว่ากัน จึงทำให้เรื่องร้องเรียนลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมีจำนวนน้อยลง
เห็นได้จากการเลือกนายก อบจ. กรณีลาออกก่อนครบวาระ จำนวน 29 จังหวัดที่ผ่านมา กกต.จัดการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ พบว่าเรื่องร้องเรียนทั้ง 29 จังหวัดมีไม่ถึง 10 เรื่อง ถือว่าน้อยมาก มองว่าเป็นทิศทางที่ดี เป็นการพัฒนาการเมือง ตัวผู้สมัครเลือกเสนอนโยบาย ขณะที่ประชาชนเลือกรับฟังนโยบายมากกว่าการไปรับทรัพย์สิน เงินทอง เป็นทิศทางที่ดีของการเมืองประเทศไทย
การทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เราสามารถแบ่งพื้นที่ได้ว่าพื้นที่ใดมีการแข่งขันสูงตั้งแต่ก่อนการเปิดรับสมัคร ต้องมีข้อมูลสันนิษฐานไว้ก่อนว่าใครเป็นผู้สมัคร การแข่งขันสูงหรือไม่ บางครั้งผู้สมัครทำให้การแข่งขันเข้มข้นหรือแข่งขันสูงได้
เมื่อมาสมัครจะเห็นตัวบุคคลได้อีกระดับหนึ่งว่าพื้นที่ใดเป็นอย่างไร เป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม สีขาว หรือสีเขียว เราจะมีมาตรการการดูแลแตกต่างกัน สุดท้ายเป้าหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
“เราประเมินจากการแข่งขันในแต่ละพื้นที่ว่ามีการแข่งขันเข้มข้นแค่ไหนอย่างไร ซึ่งพื้นที่ที่มีการแข่งขันเข้มข้นจะดูแลแบบหนึ่ง ส่วนพื้นที่ที่มีการแข่งขันไม่เข้มข้นจะดูแลอีกแบบหนึ่ง เป็นเรื่องปกติของการเลือกตั้ง ส่วนความไม่สงบและเรียบร้อยที่อาจจะเกิดขึ้นคิดว่ามาถึงตรงนี้แทบจะไม่มี ไม่คิดว่าผู้สมัครคนไหนคิดจะทำแบบนี้ เมื่ออาสามาทำให้ชาติบ้านเมืองไม่ควรจะทำเรื่องที่ผิดกฎหมายแบบนี้”
เชื่อว่าเจ้าหน้าที่มีความแข็งแกร่ง เพราะเราไม่ได้ไปกลั่นแกล้งใคร ต้องการรักษาสนามการแข่งขันให้เป็นธรรม สุจริตและเที่ยงธรรม ตามกฎหมายกำหนดเราไม่มีอาวุธ มีแต่ความเป็นกลางจัดการแข่งขัน
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติก็ไม่ได้กังวลเรื่องนี้ทุกคนทำหน้าที่มีความพร้อมและมีสภาพจิตใจแข็งแกร่งจะทำงานตรงนี้ หากพื้นที่ใดเจ้าหน้าที่เห็นว่าเกินกำลัง จะขอกำลังมา หรือถ้าส่วนกลางเห็นเอง จะส่งกำลังลงไปช่วยทำงาน
ถ้าผู้สมัครรู้สึกไม่เป็นกลาง บอกเราได้ ให้ข้อมูลมาได้ แต่ถ้ารู้สึกไม่เป็นกลางโดยเกิดจากกฎหมาย บางทีกฎหมายบอกแบบนั้น และ กกต.ต้องตัดสินตามกฎหมาย แต่เขารู้สึกไม่เป็นกลาง คงจะมาโทษ กกต.ไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้แบบนั้น แต่เขาได้รับผลกระทบ
วิธีการแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือ ต้องไปร่วมกันแก้ไขกฎหมายว่าวิธีแบบนี้ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม มองให้ชัดว่าความไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นกลาง เกิดจากตัวบทกฎหมายหรือตัวบุคคลปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเกิดจากกฎหมายและไม่มีการแก้ไข จัดการเลือกตั้ง อีก 10 ครั้งก็ต้องปฏิบัติแบบนั้น
“ขอให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอย่าหวั่นไหวกับสิ่งที่เจอ ทำอย่างไรก็จะมีแรงเสียดทานอยู่ดี เพราะคนแข่งขันมีแต่มองประโยชน์ การแข่งขันทางการเมืองเพราะคนชนะกินรวบ ถึงอย่างไรเราก็โดน ฉะนั้นต้องทนให้ได้ เพียงแต่เราจะต้องทำให้ถูกกฎหมาย เพราะถ้าทำถูกก็ไม่ต้องไปกังวลในเรื่องอะไรอยู่แล้ว”
การเลือกอบจ. เป็นที่สนใจการแข่งขันน่าสนใจพอๆ กับการเลือกตั้งสส. จากทั้งพรรคการเมืองและฝ่ายประชาชน
เราพยายามจะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งหน่วยเลือกตั้ง ทั้งการลงคะแนนหลังการปิดหน่วยรวมคะแนนนับคะแนน
เพราะเราเห็นจากหลายครั้งที่เลือกอบจ. 29 จังหวัดที่ผ่านมา แม้เลือกเพียง 1 อย่าง การรายงานผลคะแนนก็ไม่เป็นไปตามเวลาที่เรากำหนด จะล่าช้ากว่าปกติ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งอาจเกิดจากพื้นที่หรือระบบที่รับข้อมูลมาพร้อมกันเยอะๆ เราต้องแก้ไขให้ประชาชนรู้สึกว่าเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนกรณีพรรคการเมืองส่งแกนนำลงพื้นที่ช่วยหาเสียง เราไม่ได้กังวล ทุกความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งเราติดตามอยู่แล้ว ขณะเดียวกันพรรคการเมืองเองคงต้องระมัดระวังตัวเช่นกัน รู้ว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด หากทำเกินเลยกว่ากฎหมาย เขาจะมีปัญหาได้
การเลือกตั้งท้องถิ่นถือเป็นรากฐานของการพัฒนาการเมืองระดับชาติ ถ้าท้องถิ่นดีระดับชาติก็จะดีไปด้วย
การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทำให้ผู้แทนหรือตัวนายก อบจ. หรือสมาชิก อบจ. หรือประชาชนเองได้ทราบปัญหา ดูแลใกล้ชิดและเข้าถึงได้ง่าย
ต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติซึ่งมีความซับซ้อน ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นเจ้าของได้ห่างกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น นั่นจึงเป็นความสำคัญที่ประชาชนจะได้ให้ความสำคัญและใส่ใจ เพราะมีความเกี่ยวพันกับประชาชนโดยตรง
จึงอยากขอเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
การเลือกตั้ง อบจ. มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 55 ล้านคน ขนาดงานจะเหมือนกับการเลือกตั้งสส. หน่วยเลือกตั้งประมาณ 90,000 หน่วยเลือกตั้ง
กกต.ตั้งเป้าออกมาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 65%