เปิดขั้นตอน เช็กสิทธิเลือกตั้ง อบจ. 1 กุมภาพันธ์ 2568 มีเหตุจำเป็นไปไม่ได้ ต้องแจ้งที่ไหน?
GH News January 04, 2025 08:21 PM

เปิดขั้นตอน เช็กสิทธิเลือกตั้ง อบจ. 1 กุมภาพันธ์ 2568 มีเหตุจำเป็นไปไม่ได้ ต้องแจ้งที่ไหน?

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในวันเสาร์ ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

โดยมีจังหวัดที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 47 จังหวัด และมีการเลือกตั้งเฉพาะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 29 จังหวัด และกำหนดวันรับสมัครตั้งแต่วันที่ 23 – 27 ธันวาคม 2567 และได้ดำเนินการรับสมัครเสร็จสิ้นแล้ว นั้น

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การเลือกตั้ง อบจ. มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง55 ล้านคนโดยประมาณ ขนาดงานจะเหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หน่วยเลือกตั้งประมาณ 90,000 หน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ กกต.ตั้งเป้าสำหรับผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับกำหนดมาตรการป้องกัน ป้องปราม รวมทั้งปราบปรามการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

อ่านข่าว –  ‘แสวง บุญมี’กางแผน สกัดทุจริต เลือกตั้ง อบจ.ทั่ว ปท. 

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด ดังนี้

1. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 192 คน

2. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 6,815 คน

สำหรับการตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น มีขั้นตอนดังนี้

1.เข้าเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/

2.กรอกเลขบัตรประชาชนเพื่อเช็กสิทธิของตน ถ้าเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ทางเว็บจะขึ้นข้อมูล ชื่อ สิทธิกาคเลือกตั้ง ที่ระบุว่า มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิก สภา อบจ. และ นายก อบจ.

พร้อมกับให้ข้อมูล เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือก สถานที่เลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีรายชื่อ

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง มีดังนี้ 

1.บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)

บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
– บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
– ใบขับขี่
– หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
ฯลฯ

2.เปิดผ่านแอปพลิเคชั่น แสดงหลักฐานแบบออนไลน์ ใช้ได้ 2 แอปพลิเคชั่น คือ

– ThaID บัตรประชาชนดิจืทัล
– DLT QR Licence ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์

ขอบคุณภาพจากเว็บ https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2971

การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้

1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

2. การเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้

  • สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.) หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
  • สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  • เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.)
  • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  • ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
    การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.