หมายเหตุ – ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่าย 19 มหาวิทยาลัย ด้านการจัดการภัยพิบัติ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงสถานการณ์ แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย พร้อมเสนอแนะให้เตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
จากเหตุการณ์ในปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักหนาสาหัสหลายภูมิภาค ทั้งยังพบความเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ และความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากเดิม ความพินาศเสียหายใหญ่ซ้ำซากเหล่านี้นำมาสู่คำถามในสังคมที่ว่า “ต้องทำอย่างไร ถึงจะรับมือภัยพิบัติได้ดีกว่าที่เป็นอยู่”
คิดว่าต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีปฏิบัติใหม่ทั้งหมด เพราะมี 3 เรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องเร่งทำ เพื่อบริหารจัดการและรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นด้วย
เติมเต็มข้อมูลในระบบจัดการภัยพิบัติ
ความท้าทายในการจัดการภัยพิบัติที่มีต้นเหตุมาจากข้อมูลที่บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย การพยากรณ์ระยะกลาง และข้อมูลความเปราะบางของชุมชน เพราะยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายพื้นที่ ยังไม่ได้ถูกระบุไว้ในแผนพื้นที่เสี่ยงภัย (Risk map) ซึ่งการทำแผนพื้นที่เสี่ยงภัยให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศนั้นควรเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่รวมเอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาจัดทำให้สำเร็จ
ในขณะเดียวกัน การพยากรณ์ระยะกลางยังมีข้อจำกัดด้านความแม่นยำ เช่น การคาดการณ์ฝนตกหนักที่มีความแม่นยำก่อนหน้า 3-4 เดือน ก็จะส่งผลให้ชุมชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ รายงานจาก World Bank หรือธนาคารโลก ในปี 2023 ยังระบุว่า ชุมชนที่มีความเปราะบางในประเทศไทยขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่พอเพียง และเสี่ยงต่อการเสียหายเมื่อเกิดภัยพิบัติ การขาดข้อมูลเหล่านี้ ลดประสิทธิภาพของการวางแผนและการตัดสินใจ แถมยังเพิ่มความเปราะบางของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนข้อมูลที่มีอยู่แล้วนั้นยังกระจัดกระจายและไม่สามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึงทุกหน่วยงาน ก็ควรรวบรวมจัดเป็นระบบกลางที่หน่วยงานต่างๆ จะหยิบใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ คาดการณ์ภัยพิบัติได้อย่างสะดวก ทั่วถึง
ปฏิวัติงบประมาณจัดการภัยพิบัติ
งบประมาณที่จัดสรรให้กับการรับมือภัยพิบัติระดับชาติควรถูกใช้กับการเตรียมพร้อมในระยะยาว 4-5 ปี เช่นการจัดทำแผน การจัดทำและวิเคราะห์ข้อมูล การลดความเสี่ยงในพื้นที่เปราะบาง หรือแผนพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วทั้งประเทศ จากที่ประเทศไทยเคยเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมในปี 2554 ราว 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 ของจีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ในปีนั้น หากมีการลงทุนในระบบป้องกันและการวางแผนลดความเสี่ยงล่วงหน้า ย่อมจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดิมได้
อีกทั้งงบประมาณในระดับจังหวัดที่จะใช้ในการจัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนต่อการรับมือภัยพิบัติ (1 ตำบล 1 ทีมกู้ชีพกู้ภัย: OTOS) มีไม่เพียงพอ จึงทำให้ขับเคลื่อนการวางแผนรับมือ ฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทำได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะแท้จริงแล้วชุมชนเป็นฐานสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งสามารถลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้อย่างมาก
ความจริงได้มีการจัดสรรงบประมาณก่อนเกิดเหตุมาก่อน โดยให้จังหวัดมีสิทธิอนุมัติ ได้ใช้งบประมาณเพื่อป้องกันและยับยั้งภัยพิบัติ จากวงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินทั้งประเทศกว่า 700 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาถูกใช้งานจริงเพียง 20.5 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 2.7 ของวงเงินทั้งหมด ขณะที่งบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการช่วยเหลือหลังเหตุการณ์ เนื่องจากการใช้งบประมาณเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่ระเบียบให้ใช้ได้เมื่อ “คาดหมายว่าจะเกิดภัยพิบัติ” ยังขาดกรอบที่ชัดเจน ทำให้ผู้มีอำนาจ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าสั่งการ เนื่องจากกังวลว่าหากใช้งบประมาณไปแล้วในพื้นที่ที่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์จริงอาจถูกกล่าวหาว่าใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ หรือไม่เหมาะสม ส่งผลให้มีความลังเลในการอนุมัติใช้งบประมาณล่วงหน้า แม้ว่าการใช้งบประมาณในลักษณะนี้เป็นผลดีต่อประชาชนและพื้นที่นั้นๆ โดยรวม
งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อการจัดการภัยพิบัติและปรับตัวรับความเสี่ยง ควรมุ่งจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติผ่านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความยืดหยุ่น เช่น การเปลี่ยนทางน้ำไหล การบริหารจัดการลำน้ำ คูคลอง เป็นต้น โดยมีการวางแผนที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือและลดความเสียหายในระยะยาว
มองไปข้างหน้า: ถึงเวลา‘สั่งจ่ายงบประมาณตามการคาดการณ์’
ในขณะที่ไทยยังคงวนเวียนอยู่ในปัญหาเดิมๆ หลายประเทศได้นำแนวทางใหม่มาปรับใช้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การสั่งจ่ายงบประมาณตามการคาดการณ์ (Forecast-based Financing) ซึ่งใช้การคาดการณ์ภัยพิบัติมากำหนดการดำเนินการล่วงหน้า ซึ่งสหประชาชาติและในหลายประเทศก็นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้บ้างแล้ว อย่างในบังกลาเทศ สั่งจ่ายเงินสดล่วงหน้าให้กับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก่อนเกิดน้ำท่วม ทำให้ประชาชนสามารถเตรียมตัว อพยพสัตว์เลี้ยง ซื้ออาหาร
ทางรอดของไทย: จากการแก้ปัญหาปลายเหตุสู่การตอบโต้ล่วงหน้า
แนวทางคือ การตั้งกรอบการใช้งบประมาณล่วงหน้าประมาณ 4 เดือน ใช้ระบบการสั่งจ่ายงบตามการคาดการณ์ เช่น เอาข้อมูลพื้นที่เปราะบางมาเป็นตัวช่วยวิเคราะห์ก่อน ถ้าเป็นพื้นที่เคยประสบภัยหนักๆ ซ้ำซาก หรือมีความเสี่ยงสูง ก็ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังสัก 7-8 เดือน มาประกอบการตัดสินใจ
อีกทั้งการประเมินความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้าพื้นที่นั้นมีชุมชนใหญ่ มีย่านการค้า หรือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ แน่นอนว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นความเสียหายจะรุนแรงกว่า และพิจารณาประกอบกับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ถ้าน้ำในเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำเริ่มเกินระดับปลอดภัย หรือกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าจะมีพายุฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ พอถึงจุดที่มีสัญญาณว่าภัยพิบัติเหล่านี้จะเกิดขึ้น เงินจะปล่อยออกมาได้ โดยคนอนุมัติไม่ต้องกลัวถูกร้องเรียนเพราะมีกรอบข้อมูลข้างต้นยืนยัน ถ้าจัดการแบบนี้ได้จะทำให้มีระบบรับมือภัยพิบัติที่ “รวดเร็ว” และมี “ประสิทธิภาพ” กว่าเดิม
เสริมสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาครัฐเป็นหัวใจสำคัญในการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ การจัดกิจกรรมในชุมชน เช่น การฝึกซ้อมอพยพ หรือการสร้างความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัย ไม่เพียงช่วยสร้างความพร้อม แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ลดความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เครือข่ายภาคประชาชนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ไม่เพียงทำหน้าที่แจ้งเตือนภัย แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ข้อมูลระดับน้ำ ซึ่งอาจดูซับซ้อนกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย และสามารถนำไปสู่การเตรียมการรับมือได้อย่างเหมาะสม
นอกจากการปฏิบัติในระดับพื้นที่แล้ว การผลักดันปัญหาจากชุมชนสู่กลไกรัฐ ถือเป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ การส่งต่อเสียงสะท้อนจากพื้นที่ เช่น การเรียกร้องนโยบาย หรือการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ช่วยสร้างการป้องกันที่ยั่งยืนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การทำงานร่วมกันระหว่าง “ชุมชน” และ “ภาครัฐ” เป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงพลังในการสร้างความปลอดภัยในสังคม
ภัยพิบัติอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ความเสียหายสามารถลดลงได้ หากมีการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอย่างเหมาะสม ความร่วมมือระหว่างชุมชน อปท.และหน่วยงานของรัฐจึงเป็นกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การรับมือภัยพิบัติจึงไม่ใช่ภารกิจของผู้ใดผู้หนึ่ง
เปลี่ยนจาก‘ซ้ำซาก’สู่‘ยั่งยืน’
ประเทศไทยได้เผชิญกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ซ้ำซากมายาวนาน แต่หากเราเปลี่ยนแนวทางการจัดการภัยพิบัติ 3 เรื่องใหญ่ด้วย “ปฏิบัติการก่อนเกิดเหตุ” นี้ได้ ก็จะสามารถลดความเสียหายจากภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศรอคอยมานาน