ภารกิจติดตามการซ่อมแซมโพรงนกเงือกของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
วันที่ 6 มกราคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า เปิดเผยว่า นกเงือกถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้อีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากนกเงือกจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ นกเงือกสามารถกินผลไม้สุกเป็นอาหาร มากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่
และด้วยเหตุนี้ นกเงือกจึงเป็นตัวช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากพฤติกรรมการกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน เมล็ดเหล่านั้นก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้เงาร่มรื่น จนได้รับฉายาว่านักปลูกป่าเลยทีเดียว
“แต่เนื่องจากในปัจจุบัน สภาพผืนป่า มีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก รวมถึงต้นไม้ที่เหมาะแก่การทำโพรงรังของนกเงือกก็มีจำนวนน้อย ซึ่งนกเงือกต้องใช้โพรงไม้ในการทำรัง แต่ว่านกเงือก ไม่สามารถเจาะโพรงรังเองได้เนื่องจากปากมีลักษณะกลวง ซึ่งต่างจากนกหัวขวานที่ปากแข็งสามารถเจาะโพรงเองได้ และโพรงรังเดิมที่นกเงือกเคยใช้ เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี ปากโพรงก็จะแคบลง พื้นโพรงก็ทรุดและมีน้ำขัง ทำให้นกเงือกไม่สามารถใช้โพรงรังในการทำรังวางไข่ได้”อธิบดีกรมอุทยาน กล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จึงต้องมีการเข้าไปช่วยจัดการโพรงรัง โดยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะทำการซ่อมโพรงรังในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจับคู่ผสมพันธุ์ของนกเงือกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
โดยวิธีการจัดการโพรงรังนั้น ทางทีมนักวิจัยจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก จะหาต้นไม้ที่นกเงือกเคยทำโพรงรังเก่า ซึ่งโพรงรังที่นกเงือกใช้จะเป็นโพรงรังที่เกิดกับต้นไม้เป็น แล้วปีนขึ้นไปดูว่าสามารถที่จะทำรังต่อไปได้อีกหรือไม่ หากโพรงนั้นๆ ไม่สามารถใช้ต่อไปได้ ก็จะทำการซ่อมแซมเพื่อให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของนกเงือก
นานอรรถพล กล่าวว่า ซึ่งการซ่อมแซม ขั้นแรกจะทำการวัดขนาดของปากโพรง ทั้งขนาดความยาว ความกว้าง และความลึกข้างในโพรง เพื่อให้ประเมินได้ว่าจะต้องมีการจัดการซ่อมแซมโพรงนี้อย่างไรให้เหมาะสมกับนกเงือกชนิดนั้นๆ ซึ่งนกเงือกแต่ละชนิด มีความต้องการขนาดโพรงที่แตกต่างกันไป จากนั้นจะทำการเจาะเปิดปากโพรงโดยใช้สิ่วไม้ หากมีน้ำขังก็จะทำการใช้สว่านมือในการเจาะและใส่ท่อช่วยระบายน้ำ และหากโพรงที่มีความลึกเกินไป ก็จะมีการขุดดินและนำขึ้นไปเทปูพื้นให้เสมอปากโพรง ปิดท้ายด้วยการทำไม้คอนหรือไม้เชิญชวน ซึ่งเป็นกิ่งไม้ที่ตอกไว้ข้างๆปากโพรง ทำไว้เพื่อให้นกเงือกเห็นการเปลี่ยนแปลงของโพรงรังและยังสามารถใช้เกาะดูข้างในโพรงพร้อมกับป้อนอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น
“การซ่อมแซมโพรงรังเช่นนี้ ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์นกเงือกอีกวิธีการนึง โดยเป็นการจัดการด้านถิ่นที่อยู่อาศัย จัดการโพรงรังเพื่อให้นกเงือกสามารถทำรังวางไข่ขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มประชากรนกเงือก เมื่อมีประชากรนกเงือกเพิ่มมากขึ้น ความอุดมสมบุรณ์ของผืนป่าก็เพิ่มมากขึ้นด้วย”อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว