กอบศักดิ์ ภูตระกูล โชว์‘ลมใต้ปีก’เฟสใหม่ ค้ำยันเศรษฐกิจปีมะเส็ง
GH News January 06, 2025 10:00 AM

หมายเหตุ – นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “มติชน” ถึงทิศทางเศรษฐกิจ ปัจจัยหนุนและปัจจัยเฝ้าระวัง และความเชื่อมั่นประเทศไทย ปีมะเส็ง 2568

แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาคการส่งออกกำลังมา โลกกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจ เป็นเฟสของการฟื้นตัวหลังจากเจอวิกฤตโควิด-19 ระบาด และใช้เวลากับการต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อ รวมกันเสียเวลาไปกว่า 5 ปีเต็ม ซึ่งขณะนี้ปัจจัยต่างๆ ได้คลี่คลายลงไปเยอะแล้ว หลายประเทศเริ่มลดดอกเบี้ย นำไปสู่ดอกเบี้ยโลกจะปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งการลดดอกเบี้ยระยะยาวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ให้เกิดการฟื้นตัว เมื่อมีการลดดอกเบี้ยพร้อมๆ กัน กระบวนการฟื้นตัวจะดีเป็นพิเศษ

สะท้อนจากตัวเลขภาคการส่งออกล่าสุดเติบโต 14.6% ซึ่งไม่ได้เห็นมานานแล้ว มีแต่ติดลบหรือบวกเล็กน้อยเท่านั้น โดยประเทศต่างๆ ก็เห็นเทรนด์การส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเทรนด์นี้จะเด่นชัดขึ้นในช่วงปีข้างหน้า ในระยะยาวภาคการส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็จะปรับดีขึ้นกว่าที่คิดไว้ โดยพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในตอนนี้ ประเมินช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) เดือนธันวาคม คาดว่าจะเข้ามากว่า 4 ล้านคนใน 1 เดือน ฟื้นกลับไปเท่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิดแล้ว แต่เป็นจำนวนที่มีคุณภาพสูงเข้ามา เนื่องจากนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศเดินทางเที่ยวต่างประเทศลดลง กลุ่มคนระดับบนเท่านั้นที่จะออกนอกประเทศ ส่งผลให้ท่องเที่ยวไทยรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง

รวมถึงเห็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่ขณะนี้ก็ดีวันดีคืน สะท้อนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อมูลการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติที่มีความวุ่นมากจากเดิม ตัวเลขน่าจะปิดที่ 8-9 แสนล้านบาทได้ โดยการลงทุนโดยตรงทำให้เกิดเซ็กเตอร์ใหม่ขึ้นมาอย่างที่มีการพูดถึงมานานแล้ว อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำให้ประเทศไทยมีแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นลูกระนาด เริ่มต้นจากต่างประเทศก่อน จากนั้นไปต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในประเทศไทย ก็จะมีซัพพลายเชนต่างๆ ตามมา เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

เมื่อมีการลงทุนจะเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ จากต่างประเทศ จะทำให้สามารถมีเทคโนโลยีใหม่ สร้างรายได้แบบใหม่ ถือเป็นการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งเวลามีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา คนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น คนกลุ่มชนชั้นกลางจะมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยจะเพิ่มขึ้นในเมืองเหล่านั้น ซื้อสินค้าไทยที่มีความชื่นชอบจากต่างประเทศอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ สะท้อนถึงการเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจไทย ที่มีลมใต้ปีกอยู่เยอะ

ส่วนปัจจัยที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจจีน ซึ่งมีความน่ากังวลใจ เพราะยังต้องทำอีกเยอะ หลังจากลดดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแล้ว แต่ยังไม่เห็นความสำเร็จต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในต้นตอ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องดำเนินการจัดการด้วยมาตรการต่างๆ ให้ได้ แต่เมื่อยังไม่มีมาตรการแก้ไขออกมา ก็จะทำให้เศรษฐกิจจีนโตแบบอ่อนแอ ส่งผลต่อนัยยะอื่นๆ ตามมา อาทิ สินค้าจีนที่ได้ผลิตไว้แล้ว หากไม่สามารถขายในประเทศได้ ก็ต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ คำถามคือ สินค้าเหล่านี้จะไปขายในประเทศใด มีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตจากต่างประเทศน้อยลง เพราะสินค้าขายไม่ได้ รวมถึงคนจีนจะเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ประเทศจีนกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของการออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนเข้าไปลงทุนในจีนสูงมาก แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินเอฟดีไอไหลออกจากจีนสูงมากเช่นกัน เพราะมีความกังวลถึงข้อพิพาทระหว่างสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจจีนที่แย่ลง ไม่ได้มาจากภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว แต่มีเรื่องเงินทุนเอฟดีไอที่ไหลออกมาสูงมากด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้จีนมีความลำบากในด้านของเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวไทยตามไปด้วย

2.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในปี 2568 เมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว เชื่อมั่นว่าสงครามการค้ามาแน่นอน จะวุ่นวายปั่นปวนไปหมดจนน่าเบื่อมากแน่นอน อาทิ หากสหรัฐเพิ่มกำแพงภาษีกับยุโรป แล้วยุโรปจะต้องคิดหามาตรการตอบโต้แน่นอน เกิดการทะเลาะกันเต็มไปหมด แต่ข้อดีคือ คู่ต่อสู้หลักของสหรัฐยังเป็นจีนที่จะทำสงครามการค้าระหว่างกันแบบเยอะๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นคู่ต่อสู้ห่างแถว ที่สหรัฐประกาศจะตั้งกำแพงภาษีขึ้น 10% เทียบกับจีนที่จะขึ้น 60% ทำให้สินค้าจีนที่นำเข้าไปในสหรัฐ ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 60% แต่สินค้าไทยเพิ่มขึ้นเพียง 10% แม้ปรับราคาขึ้นก็ยังถูกกว่าจีนอยู่ดี โอกาสท่ามกลางปัญหาจึงอาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด แม้มีความน่ากังวลใจในความปั่นป่วนที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

และ 3.สงครามที่แท้จริง ข้อพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ รัสเซีย-ยูเครน หากสหรัฐไม่สนับสนุนด้านการเงิน สงครามจะไปต่อได้มากน้อยเท่าใด เพราะที่เดินหน้าได้ในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมีเจ้ามือคอยสนับสนุนอยู่ แต่หากสุดท้ายแล้วสหรัฐประกาศว่าจะไม่ช่วยสนับสนุนอีกต่อไป ประเทศเหล่านั้นจะเดินหน้าสู่สงครามอย่างไร รวมถึงยังมีสงครามในตะวันออกกลาง สงครามกลางเมืองซีเรีย ที่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ทำให้ภาพต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ในอนาคต แต่สิ่งที่ดีคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศว่าจะพยายามไม่ให้เกิดปัญหาจากสงครามที่แท้จริง แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นความเสี่ยงที่เราต้องกังวลใจในปี 2568 อยู่ดี

สิ่งที่จะมีค่าที่สุดสำหรับไทย คือ เงินไหลเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น เหมือนสมัยที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1980-1990 ที่เกิดเหตุการณ์พลาซา แอคคอร์ด ที่เงินเยนแข็งค่าสูงมาก ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นจะต้องออกไปหาฐานการผลิตเพื่อส่งออกในต่างประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่าในประเทศ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น ทำให้ประเทศไทยถือว่าเปลี่ยนไปเพราะญี่ปุ่นเลย โดยเทรนด์แบบนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับอาเซียน ทำให้อาเซียนทั้งหมดจะได้รับอานิสงส์เชิงบวก โดยกล้าพูดเลยว่า ในช่วง 5 ปีหลังจากนี้อาเซียนจะไม่เหมือนเดิม ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ เมืองใหม่ขึ้นมา เหมือนภาพในจีน ที่มณฑลจีน อาทิ เซี่ยงไฮ ฉงชิ่ง เฉิงตู ที่ภาพเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 ปีที่มีเม็ดเงินเอฟดีไอเข้าไปลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยที่อยู่ในอาเซียนกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ ถือเป็นโอกาสของไทยที่เกิดขึ้น

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำคือ การดึงดูดเงินลงทุนโดยตรง อยากให้รัฐบาลทำมากขึ้น ผ่านการแก้กฎเกณฑ์ทั้งหมดเพื่อดึงคนเก่งๆ หรือบริษัทสตาร์ตอัพใหม่เข้ามา เร่งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญบางอย่าง จากที่ทำเรื่องรถไฟฟ้าได้ดีแล้ว พื้นที่อีอีซีมีคนนักลงทุนจับจองจนเกือบหมดแล้ว ซึ่งเวลานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา มักตามกันเข้ามาแบบจำนวนมากๆ รัฐบาลจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการฉกฉวยโอกาสที่กำลังเข้ามานี้ โดยต้องแก้ไขกฎเกณฑ์การเข้าประเทศ ตั้งบริษัทในประเทศ การรายงานตัว และใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้เหมาะสมกับการทำงานจริง รวมถึงระบบการทำงานแบบวันสต๊อปเซอร์วิส กำหนดให้บริษัทสามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆ แบบติดต่อสำนักงานเพียงแห่งเดียว สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดทุกเรื่องที่มีอยู่ ไม่ต้องให้สิทธิพิเศษในเรื่องภาษีเพิ่มเติมจากที่ทำไว้ก็ได้ แต่ต้องทำให้การบริการของรัฐบาลเป็นวันสต๊อปเซอร์วิสให้ได้

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ประเมินว่าน่าจะทำได้เกิน 3% ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนได้มากน้อยเท่าใด สะท้อนจากปัจจัยบวกในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมองว่าอินเดียมีโอกาสสูงมากแบบไม่สิ้นสุด ควรจะเข้าไปสนับสนุนให้มากขึ้นกว่านี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะดำเนินการขับเคลื่อนได้อีกมากเท่าใด โดยเปรียบเทียบในตอนนี้คือ ปลากำลังจะว่ายเข้ามาแล้ว ทำให้เราต้องมีทีมจับปลา อย่างการเพิ่มงบประมาณให้กับบีโอไอ เพื่อเพิ่มทีมทำงานจับปลาให้ได้มากที่สุด เพราะหากไม่จับตอนนี้ คำถามคือจะไปจับในตอนไหนอีก ซึ่งในตอนนี้เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมจากการเตรียมตัวไว้แล้วในช่วงที่ผ่านมา

ประเทศไทยยังจำเป็นต้องทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มเติมร่วมกับอีกหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ยุโรป อินเดีย และบังกลาเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ควรจะทำให้ได้ หากสหรัฐยินยอมที่จะทำร่วมกับไทย เพราะสิ่งที่เราต้องทำให้มากขึ้นเป็นการสร้างพื้นฐานให้กับประเทศไทย ตอบโจทย์ในเรื่องสำคัญๆ หากบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษในด้านดิจิทัลของไทยไม่เพียงพอ ก็เปิดรับให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในแง่เทคโนโลยีใหม่ของไทยมากขึ้น

ในด้านบทบาทของตลาดทุนไทย เชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการที่อาเซียนพัฒนาจากเดิม แม้ขณะนี้จะมีคำถามในบางเรื่อง อาทิ การเมือง หรือความเชื่อมั่นต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดของตลาดทุนก็เป็นเรื่องความสามารถในการสร้างรายได้ ผลประกอบการหรือการเพิ่มกำไร ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ที่ดีต่อประเทศไทยคือ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะจุดแข็งของประเทศเป็นความเข้มแข็งของภาคเอกชน สิ่งที่จะช่วยเราเป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่กำลังเปลี่ยนโลกอยู่ในขณะนี้ หากสามารถนำมาใช้พัฒนาธุรกิจของไทย เปิดโอกาสในการเดินหน้าไปข้างหน้าได้ จะทำให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายที่มีความสำคัญมากในการทำธุรกิจ เพราะอย่างไรหากเทคโนโลยีเดิม การสร้างรายได้ก็เท่าเดิม แต่หากมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วย การสร้างรายได้ก็ต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

จากนี้สินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัลแอสเซท) จะกลับมา เพราะปัญหาของดิจิทัลแอสเซทในรอบแรกคือ ผู้กำกับ (เรกกูเรเตอร์) ทั่วโลก มองว่าดิจิทัลแอสเซทเป็นสินทรัพย์ตัวใหม่ที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งวุ่นวายมากนัก ทำให้มีปัญหาตามมาเยอะเช่นกัน เพราะช่วงที่ดิจิทัลแอสเซทไปได้ดีก็ดีไป แต่ตอนที่ไม่ดีก็มีปัญหาตามมา อาทิ กรณีของเหรียญเอฟทีเอ็กซ์ ที่นำเงินของลูกค้าไปลงทุนแล้วมีปัญหาตามมา เหรียญลูน่า ที่มีสัญญาการตอบแทนผ่านดอกเบี้ยกว่า 20% ซึ่งถือว่าสูงมากและไม่สามารถทำได้จริง สุดท้ายก็ล่มสลายไป รวมถึงสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี ก็ปิดตัวลงเช่นกัน

ในรอบนี้จะเป็นยุคของเหรียญดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี)2.0 รอบแรกจบแล้วด้วยวิกฤต ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นตัวที่ทนทานได้ก็สามารถอยู่รอด ซึ่งตัวที่อยู่รอดก็เป็นบิตคอยน์และอีเธอร์เรียม ทำให้การกลับมาใหม่ในครั้งนี้ถือว่ามีประสบการณ์จากรอบแรกมาแล้ว เมื่อรู้จักสินทรัพย์ใหม่เหล่านี้มากขึ้น ก็จะมีการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีมีฐานที่แข็งแรงขึ้น ซึ่งตัวดิจิทัลแอสเซทเองก็มีมูลค่าที่แท้จริงของตัวเองด้วย จึงมองว่าเราควรให้ความสำคัญเรื่องนี้และเดินหน้าไปได้ แต่ต้องทำให้เข้มข้นในการกำกับดูแล เหมือนที่ผ่านมา การที่คริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้มข้นในการดูแลมาก ตอนที่ดีๆ ก่อนหน้านี้หากปล่อยให้ทำอะไรก็ได้เพราะคิดว่าสำเร็จแน่นอน แต่ ก.ล.ต.ไม่ได้ปล่อยไป ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีในไทยไม่มีปัญหามากนัก

ความสำคัญของภาคการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือ การกำกับดูแลที่เข้มแข็งและเหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้กับนักลงทุนอย่างแท้จริงด้วย โดยมองว่า สิ่งที่พลาดในช่วงก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.ความรู้ที่ขาดไป อาทิ สินทรัพย์มีขึ้นและลง ซึ่งคำแนะนำส่วนใหญ่มีแต่ชี้ให้เข้าซื้อ แต่ไม่มีการแนะให้ขายออกเพื่อทำกำไรออกมาบางส่วนก่อนบ้าง เพราะสินทรัพย์ที่มาด้วยใจ ก็จะไปด้วยใจเช่นกัน จึงต้องเกิดการเรียนรู้ในการเข้าซื้อสะสมในการลงทุน หากมีกำไรแล้วก็ขายเพื่อนำเงินต้นออกมาก่อน ใช้กำไรลงทุนต่อไปก็ได้ ถือเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน และ 2.ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี มีหลายเหรียญมากในตลาด ต้องมีการศึกษาเหรียญที่มีความแข็งแกร่ง และถูกสร้างมาอย่างดีจริงๆ ซึ่งขณะนี้คริปโทเคอร์เรนซี ถือว่าได้รับการยอมรับมากขึ้นแล้วเทียบจากอดีต สะท้อนจากสหรัฐได้ประกาศที่จะสนับสนุนให้สหรัฐเป็นเมืองหลวงแห่งคริปโทในอนาคต

หวังว่าในอีก 4 ปีต่อจาก คริปโทเคอร์เรนซี จะฝังรากจนเกิดเป็นรูปเป็นร่างในประเทศได้ มีโอกาสทำให้คริปโทกลายเป็นสินทรัพย์ปกติ ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางเลือกอีกต่อไปเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ทั้งกองทุน หรือสถาบันการเงินจะเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าจะทำอะไรกับคริปโทเคอร์เรนซีเพิ่มเติมอีกรวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่จะมีการซื้อขายคริปโทในกระดานหลักๆ ด้วย

ในปี 2568 ความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน มองว่าปัญหาการเมืองเป็นปัญหาระยะสั้น สิ่งที่สำคัญกว่าเป็นเรื่องการสร้างรากฐานที่แท้จริงให้กับสินทรัพย์ในการลงทุน เพราะสุดท้ายราคาของแต่ละสินทรัพย์จะถูกรองรับผ่านความสามารถในการหารายได้ ที่จะทำให้มูลค่าของตลาดปรับดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แม้เป็นสินทรัพย์ตัวเดิมก็ต้องทำอย่างไรให้นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมสร้างรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นได้ เราจึงต้องทำให้บริษัทไทยมุ่งสู่การเป็นบริษัทแห่งเทคโนโลยีให้ได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทในตลาดทุนไทย หากสามารถสร้างรากฐานในการสร้างรายได้และผลตอบแทนดีได้ ตลาดทุนไทยจะกลับมาอีกครั้ง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.