โคราชเฮ ! อานิสงส์ “สัมมนา ISAN NEXT” รบ.เดินหน้าแผนขนส่งมวลชน สายสีเขียว รพ.เทพรัตน์-จอหอ-หัวทะเล
GH News January 06, 2025 04:41 PM

โคราชเฮ ! อานิสงส์ “พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก” รบ.เดินหน้าแผนขนส่งมวลชน สายสีเขียว รพ.เทพรัตน์-จอหอ-หัวทะเล ตั๋ว 10 ตลอดสาย ปี 69 ลุย

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นเวลาร่วม 7 ปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทคมนาคมทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเอกชน จัดกิจกรรมประชาคม พร้อมศึกษาทางเลือกระบบรถไฟฟ้า,ความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและจราจร,กายภาพพื้นที่,ศักยภาพการให้บริการ,ระยะเวลาก่อสร้าง,การลงทุนและผลตอบแทน,ค่าเวนคืน รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชม ระบุเทคโนโลยีที่เหมาะสม 1.ระบบ E-BRT 2.tire tram และ 3.steel wheel tram กำหนดรูปแบบ PPP หรือการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ ตามที่เสนอข่าวมาเป็นลำดับ

นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา และกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำกัด เปิดเผยในฐานะคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (คจร.นม.) ว่า ช่วงปลายปี 2567 ตนได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมกับนายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราชสีมา ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานกรรมการจัดการจราจรทางบก (ครจ.) เป็นประธานการประชุม คจร.ครั้งที่ 1/25687 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ชาวโคราชขอขอบคุณรัฐบาลได้นำผลการศึกษาการพัฒนาขนส่งมวลชนภายในเมือง ซึ่งเป็นมติ คจร.นม. โดยรัฐบาลเห็นชอบแนวทางที่เป็นฉันทานุมัติของทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขนส่งมวลชนให้เป็นไปตามบริบทพื้นที่และสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานหลังทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 ถนนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M 6 ) เปิดใช้งานเต็มรูปแบบ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ได้ปรับรูปแบบช่วงผ่านตัวเมือง นครราชสีมา ระยะทาง 12.35 กิโลเมตร ตั้งแต่ ต.โคกกรวด ต.บ้านใหม่ ถึงสถานีรถไฟนครราชสีมา จึงได้พิจารณารูปแบบให้สอดคล้องกับโครงข่ายคมนาคมหลัก พัฒนาระบบขนส่งมวลชน เส้นทางโรงพยาบาลเทพรัตน์ ถึง ต.จอหอ หรือ ต.หัวทะเล อ.เมือง มีการศึกษาทั้งหมด 5 เส้นทาง

ไทม์ไลน์ ปี 68 ตั้งงบประมาณดำเนินการจัดทำแผนแม่บท โดยเดินตาม มติ คจร.นม.เพื่อออกแบบและทำประชามติ ปี 69 ตั้งงบก่อสร้างโครงการ เบื้องต้นยานพาหนะในระบบขนส่งมวลชนเป็นล้อยาง มีรางเสมือนแบบยกระดับ ใช้ระบบอัตโนมัติควบคุมเส้นทาง เพื่อความปลอดภัย ระบบพลังงานไฟฟ้า EV ลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งใช้งบไม่สูงมาก สามารถผลิตได้รวดเร็วและตอบโจทย์ต่อการใช้งานที่หลากหลาย ส่วนค่าโดยสารประเมินไม่เกิน 10 บาท ตลอดสาย

ทั้งนี้ถือเป็นอานิสงส์จากงานสัมมนา ISAN NEXT พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเวที “มองอนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย” จัดที่หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทำให้โคราชได้ประโยชน์และช่วยสนับสนุนผลักดันโครงการต่างๆโดยเฉพาะโครงข่ายคมนาคมและการพัฒนาขนส่งมวลชน เพื่อให้โคราชเป็นหัวเมือง 20 จังหวัด ภาคอีสาน เต็มรูปแบบ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.