‘สมศักดิ์’ ฝากความหวัง 4 ส.ส.เพื่อไทยดันร่าง พ.ร.บ.อสม.เข้าสภาฯ
วันนี้ (6 มกราคม 2568) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานเปิดงานเสริมสร้างความเข้มแข็งผู้นำองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ปีงบประมาณ 2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ นายกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย (ฌกส.อสม.) ผู้บริหาร สธ. ผู้นำองค์กร อสม. ระดับจังหวัดทุกจังหวัด เข้าร่วมกว่า 150 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สธ.มีนโยบายมุ่งเน้นที่สำคัญ คือ การสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ด้วยบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานใกล้บ้าน โดยกำหนดเป้าหมายให้คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพทุกมิติ ด้วยการลดโรค NCDs ที่เป็นปัญหาสำคัญ ลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนมากที่เกิดจากโรค NCDs ของประเทศได้ โดยแนวทางสำคัญคือ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน” และใช้กลไกภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการโรคและภัยสุขภาพ ในวันนี้ จึงได้เชิญผู้นำองค์กร อสม. ระดับจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ กว่า 120 คน ร่วมกันจัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานของชมรม อสม. แห่งประเทศไทย ในการต่อสู้กับโรค NCDs และเสริมสร้างความรู้ ความสามารถของผู้นำองค์กร อสม. เพื่อเป็นต้นแบบให้กับ อสม. ในเครือข่าย ในการส่งต่อความรู้ความเข้าใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไปยังประชาชน เพื่อลดปัญหาโรค NCDs ในพื้นที่ และจัดการสุขภาพชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับกิจกรรมให้ อสม.สอนนับการบริโภคคาร์โบไฮเดรต หรือ นับคาร์บ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นับกว่า 2 เดือนที่ อสม. สอนไปแล้วกว่า 11 ล้านคน ขณะที่ อสม. จะต้องสร้างความรู้ด้านการบริโภค เช่น ความเค็ม หรือโซเดียม ที่ควรบริโภคไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือ 2 กรัม เทียบเท่ากับเกลือแกง 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม รวมถึงการบริโภคไขมันดี เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ที่มีไขมันสารยาวปานกลางหรือ MCT ซึ่งร่างกายสามารถเผาผลาญเป็นพลังงานได้ และไม่สะสมในรูปของไขมันสะสม จึงควรบริโภคน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ที่เดิมเราเข้าใจว่าจะอ้วน แต่ไม่อ้วน กลับกันที่กินข้าวกันเยอะๆ ทำให้อ้วน” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ สธ.กำลังขับเคลื่อน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับ อสม. โดยเฉพาะด้านการเงิน ให้ อสม.มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม ลดปัญหาการพึ่งพาหนี้นอกระบบ โดยมีการลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของชมรม อสม. แห่งประเทศไทย ในการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” ระหว่าง ธ.ก.ส. กับ ฌกส.อสม. โดยจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ จากเดิมร้อยละ 8 เหลือ ร้อยละ 6 ซึ่งเป็นการนำเงินสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ของ อสม. ออกมาใช้ก่อน เพื่อช่วยเหลือและตอบแทนพี่น้อง อสม. ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ อสม. ทั่วประเทศได้ในช่วงต้นปี 2568 เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและตอบแทนต่อความเสียสละของพี่น้อง อสม. ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มปล่อยให้กู้เงินได้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า วันนี้ตนได้เชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาร่วมในงาน 4 คน ได้แก่ 1.นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา และประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ที่มีผลกับการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องของ (ร่าง)พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อสม. พ.ศ. … 2.น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร 3.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ 4.นายรวี เล็กอุทัย ซึ่งทุกคนจะช่วยติดตามความคืบหน้าของ (ร่าง) พ.ร.บ.อสม. เนื่องจาก สธ.เห็นความสำคัญของ อสม.ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และดูแลสุขภาพประชาชนอย่างยาวนาน จึงต้องมีการพัฒนาหลักประกันความมั่นคงของ อสม. ตั้งแต่การจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.อสม., การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ อสม. และในวันนี้ ธ.ก.ส. พร้อมด้วย ฌกส.อสม. ได้ร่วมหาแนวทางเพื่อให้ อสม. ได้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมขยายกรอบสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงโอกาสของ อสม.
ด้าน นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ตามที่ นายสมศักดิ์ได้กำชับถึงการดูแล อสม. ที่ทุกคนได้รับค่าตอบแทนตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น จึงมีความเห็นว่า ควรต้องทำให้ยั่งยืน ไม่ใช่ต้องขอมติ ครม. ทุกครั้ง จึงมีแนวคิดการทำเป็น พ.ร.บ.อสม. ขึ้น จึงมีการยก (ร่าง) พ.ร.บ.อสม. โดย สธ. ขณะนี้เรื่องอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีแล้ว รอลงนาม ก็จะมาถึงตนที่จะบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระของสภาฯ ต่อไป ยืนยันว่าจะมีการนำมาพิจารณาในวาระต้นๆ