"ธนกร"ค้านร่างแก้ รธน.พรรคประชาชน ตัดอำนาจ ส.ว. แตะหมวด1-2
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.68 นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาชนเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 นั้น ว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 256 โดยใน (6) ของพรรคประชาชน เรื่อง การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยเสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และแทนที่ด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทนนั้น ถือเป็นการริบอำนาจ หรือตัดทอนอำนาจของ ส.ว.ลงอย่างชัดเจน ซึ่งขัด ต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา โดยสว. ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองสภาอย่างแน่นอน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 156(15) ได้บัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา
นายธนกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ตนขอคัดค้านในการเสนอร่างแก้ไขของพรรคประชาชน ได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯ ในมาตรา 256 (8) ในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระนั้น ตนในฐานะ ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำจุดยืนชัดเจนมาตลอด ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่ต้องไม่แตะหมวด1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เพราะรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าวได้เขียนไว้อย่างดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข
นายธนกร กล่าวอีกว่า ส่วนการเสนอของพรรคประชาชน ที่เสนอให้ไม่ต้องจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ นั้น มองว่า สุดท้ายจะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมา เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 วินิจฉัย เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องจัดทำประชามติก่อนและหลังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถึง 3 ครั้ง
"หากพรรคประชาชนดันทุรังอาจสุ่มเสี่ยงที่ผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณา เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ อาจถูกร้องเอาผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งเกี่ยวโยงปัญหาสมาชิกรัฐสภาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง และอาจถูกส่งให้ป.ป.ช.ถอดถอนด้วย เชื่อว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบทั้งสองสภา ไม่เอาด้วยกับกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงแบบนี้แน่นอน ที่สำคัญพรรคร่วมรัฐบาล ย้ำจุดยืนเดิมชัดเจนมาตลอดว่า แก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1-2" นายธนกร กล่าว.