2568 ปีแห่งการ ‘เก็บคอ งอเข่า’
GH News January 08, 2025 11:41 AM

เปิดศักราชปี 2568 เป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลก เผชิญกับปัญหาในทุกภูมิภาค ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจจีน ยุโรป ญี่ปุ่น คู่ค้าสำคัญของไทย ยังชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระจายไปในหลายภูมิภาค

ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว อภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ปี 2568 เป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องระมัดระวัง ทั้งการลงทุน และการขยายธุรกิจ จำเป็นต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก

มองว่า “ปัจจุบันการที่จะลงทุนเพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ต้องใช้ความพยายามสูงมากเมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อนหน้านี้ (Higher Effort per One Baht Earned) ในขณะที่ต้นทุนด้านแรงงานขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราผลตอบแทนหรือผลิตภาพที่ได้รับจากกลุ่มแรงงานที่ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพทางด้านความรู้และเทคโนโลยีให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกผนวกกับความสลับซับซ้อนของกระบวนการทำงานนั้นกลับต่ำลง ภาคธุรกิจต้องแบกภาระในการบริหารจัดการต้นทุนที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังหาจุดที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปข้างหน้า (Springboard) ยังไม่เจอ จึงเป็นเรื่องที่ยาก ทำให้ผมมองว่า ปี 2568 เป็นปีที่ทุกภาคส่วนต้อง เก็บคอ งอเข่า ให้ดี เพื่อที่จะผ่านพ้น พายุเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้ามา”

⦁เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว
จากข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2568 จะเติบโต 3.2% เท่ากับปี 2567 มีสัญญาณบวกจากอัตราเงินเฟ้อลดลงจากเคยสูงสุดที่ 9.4% ลงมาอยู่ที่ 3.5% ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกคงเผชิญกับความเสี่ยง จากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 โดยการตั้งกำแพงภาษีจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน และอีกหลายประเทศได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ ในสัดส่วน 10-20%

เศรษฐกิจจีนคงไม่ฟื้นตัวหลังจากเผชิญกับวิกฤตภาคอสังหาฯ ในปี 2566-2567 ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2568 เติบโต 4.3% ลดลงจากอัตราการเติบโต 4.8% ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าที่จีนตั้งเป้าหมายไว้ว่าเศรษฐกิจจีนปี 2567 จะโตกว่า 5%

ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป คงมีสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวจากภาคการส่งออกและกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัว

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในประเทศสหรัฐ จีน และยุโรป เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ผนวกกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั้งรัสเซีย-ยูเครน ตะวันออกกลาง ที่ลากยาวมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายภูมิภาค ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศไทยเองอย่าง ภาระหนี้ครัวเรือนภายในประเทศไทยยังสูงแตะ 90% ส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ยถึงแม้จะมีสัญญาณการปรับตัวลดลงแต่เป็นการปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนโดยเฉพาะ

สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก การลงทุนของภาคเอกชนคงชะลอตัว ถึงแม้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดเศรษฐกิจไทยปี 2568 เติบโต 2.3-2.8% แต่ยังเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ และเป็นการเติบโตในบางกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างอุตสหากรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และบริการ ยังโตได้ดี ขณะที่บางกลุ่มอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพากำลังซื้อจากภายในประเทศเป็นหลัก อย่างภาคอสังหาฯ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง คงมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งจากต้นทุนสูงแต่กำลังซื้อลดลง

“ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและประคับประคองธุรกิจให้สามารถก้าวข้ามความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้น การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน การปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้ซื้อ เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงการลงทุนที่ต้องประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ไม่ลงทุนเกินตัว เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องระมัดระวัง รวมถึงภาคธุรกิจยังต้องมองหาจุดยืนในตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจของตนเองให้เข้มแข็งขึ้นและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

สถานการณ์ตอนนี้ธุรกิจขนาดใหญ่อาจกระทบไม่มาก เพราะมีช่องทางในการบริหารความเสี่ยง ทั้งการขยายการลงทุนออกไปในต่างประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินได้ง่ายกว่าธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่นอกจากจะมีปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กต้องปรับตัวเยอะ การสนับสนุนจากภาครัฐจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก เพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงของความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อาทิ สนับสนุนต้นทุนทางการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การเข้าถึงเทคโนโลยีในต้นทุนที่ถูกลง เป็นต้น” อภิชาติกล่าว

อภิชาติ เกษมกุลศิริ

⦁‘น่านน้ำธุรกิจใหม่’จุดเปลี่ยน
อภิชาติกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างน้อย 5% ต่อปี โดยต้องมีธุรกิจเป็น Springboard ที่ดึงให้เศรษฐกิจไทยหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ ประเทศที่มีรายได้ประชากรสูงขึ้น” หรือการหาน่านน้ำใหม่ให้กับภาคธุรกิจไทย ถ้าย้อนกลับไป ประเทศไทยเคยเป็นประเทศเกษตรกรรม ต่อมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเกษตร ถัดมาคือ อุตสาหกรรมใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม รถยนต์ และปิโตรเคมี มาในทศวรรษปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นของตัวเอง เราเป็นเพียงผู้บริโภค หรือผู้ใช้งาน เราไม่มีผู้ที่จะพัฒนาและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อที่จะสร้างธุรกิจหรือน่านน้ำใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ

ตัวอย่าง สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2560 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ปี 2560 สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่มีความตื่นตัวในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยจัดตั้ง AI Singapore สร้างระบบนิเวศด้าน AI ภายในประเทศ ถึงแม้สิงคโปร์มีทรัพยากรด้านบุคลากรจำกัด แต่สิงคโปร์มีข้อกำหนดให้บริษัทข้ามชาติทุกบริษัทต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ให้กับทีมงานที่เป็นคนสิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศมีความพร้อมด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบดิจิทัล และกลายเป็น Springboard ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบันสิงคโปร์มีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นสูงสุดในอาเซียน คือ 25 ราย

มาเลเซียตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีในภูมิภาค ประสบความสำเร็จในการดึงไมโครซอฟท์ เข้าไปลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี Cloud และ AI มูลค่ากว่า 81,000 ล้านบาท ป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาเลเซียภายใต้โครงการ Bersama Malaysia หรือ Together with Malaysia ที่ประกาศเป็นแผนแม่บทตั้งแต่ 2564 โดยมาเลเซียลงทุนเรื่องทรัพยากรบุคคลและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนของมาเลเซีย

เวียดนามตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งแต่ปี 2563 โดยการพัฒนาบุคลากร ปรับโครงสร้างทางกฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลภายในประเทศ โดยปัจจุบันเวียดนามมีบริษัทด้านเทคโนโลยี กว่า 58,000 ราย เป้าหมายเพิ่มเป็น 100,000 รายในปี 2568 ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ตอัพ 3,800 บริษัท และ 4 บริษัท เป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามโต 6-7% ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2565 หลังโควิด-19 คลี่คลาย

“ผมมองว่า ไทยต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ผนวกเข้ากับจุดแข็งและศักยภาพของประเทศ ให้เป็นน่านน้ำใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพื่อลดช่องว่างรายได้ของประชากร ระหว่างคนรวย คนชั้นกลาง คนหาเช้ากินค่ำ สร้างความสามารถสร้างรายได้ของธุรกิจให้เติบโตในอัตราที่เหมาะสม ไม่ใช่ลงทุนมหาศาล แต่ได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยไม่คุ้มค่าเหนื่อย (Higher Effort per One Baht Earned) จนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ไม่สนใจเข้ามาลงทุน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางกับดักหนี้ และก้าวไปสู่ประเทศที่สร้างรายได้สูงหนุนให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

แม้ปี 2568 เป็นปีที่มีอุปสรรครออยู่ข้างหน้า แต่ด้วยการมองสถานการณ์อย่างเข้าใจ การวางแผนและเดินหน้าอย่างมีสติ ดำรงตนอยู่ในความระมัดระวัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทีม และองค์กรแบบร่วมมือร่วมใจกัน ผมเชื่อแน่ว่าจะเป็นอีกปีที่พวกเราทุกคนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและความท้าทายไปได้ครับ” อภิชาติตบท้าย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.